กรุงเทพ--3 ก.พ.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เชิญผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์คุณภาพ ประชุม ปรึกษาหารือ เพื่อพัฒนา ปรับปรุง และหาแนวทางแก้ไขปัญหาการให้บริการตรวจวิเคราะห์ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับผิดชอบ ให้มีความถูกต้อง รวดเร็ว และประหยัดยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในทุก ๆ ด้าน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ดร.เรณู โกยสุโข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า การให้บริการตรวจวิเคราะห์ วิจัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ อาหาร ยา เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย และเครื่องมือแพทย์ เป็นส่วนหนึ่งของการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับผิดชอบโดยตรง เป็นที่ตระหนักกันดีอยู่แล้วว่า ขณะนี้ประเทศของเรากำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ทบทวนนโยบายและการดำเนินงานด้านการให้บริการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพดังกล่าว ตลอดจนการตรวจวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการส่งออก โดยได้เชิญผู้ประกอบการที่ใช้บริการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ ผู้แทนสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน สมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ ชมรมเภสัชกรขึ้นทะเบียน สมาคมนักเคมี-เครื่องสำอางแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ไทย และผู้ประกอบการด้านอาหารและด้านวัตถุอันตราย รวมทั้งสิ้น 29 คน เข้าประชุมสัมมนาร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อรับทราบปัญหาและอุปสรรคจากการใช้บริการของกรมฯ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งทางด้านบริหารจัดการ เช่น ระยะเวลาในการดำเนินงาน อัตราค่าวิเคราะห์ การติดต่อประสานงาน และการสนับสนุนด้านวิชาการ การประชุมปรึกษาหารือกันนี้จะจัดให้มีการประชุมร่วมกันปีละ 3 ครั้ง เพื่อติดตามผลการแก้ปัญหา และหาแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริการให้ดียิ่งขึ้น
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อไปว่า การประชุมสัมมนาในครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกเพื่อรับทราบถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการติดต่อประสานงาน ระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการหาข้อสรุปการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยสามารถติดตามผลการดำเนินงานในการประชุมครั้งต่อไป ในด้านอัตราค่าบำรุงการตรวจวิเคราะห์ ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังคงตรึงราคาเดิม ซึ่งใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2536 แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำยาเคมีและวัสดุวิทยาศาสตร์ ที่สูงขึ้นเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนที่ผู้ประกอบการได้รับจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ นอกจากนี้ได้มีการปรับปรุงระบบงานให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยได้จัดทำระเบียบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540 เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ระเบียบนี้เป็นหลักอ้างอิงหากมีความล่าช้าของการปฏิบัติงาน ในส่วนอื่น ๆ จะให้มีการจัดทำคู่มือ เพื่อให้ผู้ประกอบการทราบแนวทางในการดำเนินการเพื่อขอรับบริการตรวจวิเคราะห์และจะจัดการอบรมในทุกเรื่องที่เห็นว่าจะมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถดูได้ที่ Address WWW.dmsc.moph.go.th-- จบ--