กรุงเทพ--10 พ.ย.--กรมวิทยาศาสตร์การแทพย์
นาวาโทนายแพทย์เดชา สุขารมณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารสุข ตรวจเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เชียงราย และมอบนโยบายให้เร่งพัฒนางานคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ด้านสาธารณสุข โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาของพื้นที่เป็นหลัก เช่น สินค้าผลิตภัณฑ์สุขภาพตามแนวชายแดนที่มาจากต่างประเทศ
นาวาโทนายแพทย์เดชา สุขารมณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยหลังจากตรวจเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงราย ว่า จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่เป็นชุมทางการค้าและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะด่านพรมแดนแม่สาย นักท่องเที่ยวมักข้ามพรมแดนไปซื้อสินค้าที่ตลาดท่าขี้เหล็ก และซื้อสินค้าบริเวณด่านพรมแดนแม่สาย สินค้าส่วนใหญ่มาจากประเทศจีนและอินเดีย เช่น อาหาร ผลไม้ เครื่องสำอาง และถ้วยชามกระเบื้องเคลือบ เป็นต้น ซึ่งสินค้าดังกล่าวส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอ จากรายงานของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เชียงราย ในรอบปีที่ผ่านมาได้ตรวจวิเคราะห์หาปริมาณโลหะหนักตระกั่ว และแคดเมี่ยมในถ้วยชามกระเบื้องเคลือบ ที่วางจำหน่ายบริเวณชายแดนด่าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย จำนวน 31 ตัวอย่าง พบว่า มีปริมาณตะกั่วไม่เข้ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92 (พ.ศ.2528) จำนวน 4 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 13 ส่วนปริมาณแคดเมี่ยมเข้ามาตรฐานทุกตัวอย่าง ภาชนะที่ตรวจพบตะกั่วเกินมาตรฐานส่วนใหญ่เป็นภาชนะที่มีลวดลายพื้นผิวไม่เรียบบริเวณด้านที่สัมผัสอาหาร ซึ่งหากนำภาชนะดังกล่าวมาใช้บรรจุอาหารอาจได้รับพิษจากโลหะหนักปนเปื้อนในอาหาร ทำให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาทส่วนปลาย อาการทางสมองและระบบโลหิต
นอกจากถ้วยชามกระเบื้องเคลือบแล้ว นักท่องเที่ยวจากประเทศไทยยังนิยมซื้อผลิตภัณฑ์แป้งทางหน้าเป็นจำนวนมาก และจากการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณตะกั่วในตัวอย่างผลิตภัณฑ์แป้งทาหน้าหรือพอกหน้า จำนวน 27 ตัวอย่าง ตรวจพบปริมาณตะกั่วเกินมาตรฐานกำหนด 10 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 37 และตรวจหาเชื้อจุลินทรีย์ 18 ตัวอย่าง ไม่เข้ามาตรฐาน 12 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 66.7 ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่วางจำหน่ายตามชายแดนส่วนใหญ่จะมีราคาถูก นักท่องเที่ยวจึงนิยมซื้อโดยเฉพาะครีมแก้ฝ้า ครีมกันแดด แป้งทาหรือพอกหน้าให้ขาว ซึ่งฉลากส่วนใหญ่เป็นภาษาพม่า และจีนเป็นการยากที่จะทราบถึงส่วนผสมและข้อมูลด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ นอกจากนี้ยังได้ตรวจวิเคาะห์อาหารและผลไม้แห้ง พบว่า ผลไม้แห้ง เช่น บ๊วย ลูกไหน ท้อ มีการปนเปื้อนของสีผสมอาหาร และซัคคาริน ผิดมาตรฐานค่อนข้างสูง ฉะนั้นจึงขอเตือนประชาชน ให้ระมัดระวังในการซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้หรือบริโภคเพราะอาจำทำให้เกิดอันตรายได้
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในตอนท้ายว่า จากผลการตรวจวิเคราะห์ ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าสินค้าต่างประเทศจากชายแดนในจังหวัดเชียงราย บางชนิดยังไม่มีความปลอดภัยในการบริโภคเพียงพอ ฉะนั้น จึงได้มอบหมายให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงราย ประสานงานในรูปแบบเครือข่ายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และด่านศุลการกร เพื่อพัฒนาศักยภาพ ในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด--จบ--