กรุงเทพ--20 ม.ค.--สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย
นายดำฤทธิ์ วิริยะกุล อุปนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ในฐานะหัวหน้าศูนย์ประสานงานช่วยเหลือนักข่าวในภาวะวิกฤติ แถลงว่า เมื่อเวลา 13.30 น. วานนี้ (19 ม.ค.) คณะกรรมการร่วม 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้เชิญตัวแทนบริษัทธุรกิจชั้นนำของประเทศไทย จำนวน 16 บริษัท ได้แก่เครือเจริญโภคภัณฑ์, กลุ่มชินวัตร, เครือซีเมนต์ไทย, กลุ่มยูคอม, บมจ.ธนาคารกรุงเทพ, บมจ.ธนาคารกสิกรไทย, บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์, บมจ.ธนาคารกรุงไทย, บมจ.การบินไทย, บริษัทซีคอน แมเนจเม้นท์ จำกัด, บมจ.บางจากปิโตรเลียม, บริษัทอเมริกัน เอ็กซ์เพรส, บริษัท เพรสโก้ แซนด์วิค, บริษัทคอร์ปอเรท พับลิค รีเลชั่น คอนซัลแทนท์, บริษัท สปินเลอร์ แอนด์ แอสโซซิเอท จำกัด และบริษัทอินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด มาร่วมระดมความคิดในการแก้ไขปัญหาช่วยเหลือนักข่าวที่ประสบภาวะวิกฤติ ณ ห้องประชุม สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร
นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ที่ปรึกษา สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย นายสมาน สุดโต นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ นางชุติมา บูรณรัชดา นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย พร้อมคณะกรรมการทั้ง 3 สมาคม ได้ชี้แจงให้ทราบถึงวิกฤตการณ์ทางด้านเศรษฐกิจซึ่งผลกระทบต่อวิชาชีพสื่อมวลชนจนบางองค์กรต้องปิดตัวเองลง และมีผู้ประกอบวิชาชีพในวงการสื่อสารมวลชนตกงานถึง 3,500 คน และในจำนวนนี้เป็นนักข่าวประมาณ 1,500 คน โดยเฉพาะนักข่าวนั้นจัดได้ว่าเป็นบุคคลากรที่มีคุณค่าอยู่จำนวนมาก จำเป็นอย่างยิ่งต้องหาทางออกให้สามารถยืนหยัดต่อสู้กับวิกฤตการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและหาทางออกในการประกอบอาชีพประทังชีวิตให้คงอยู่ได้ เพื่อรักษาบุคลากรเหล่านี้เอาไว้ จึงต้องระดมความคิดเพื่อขอความร่วมมือจากองค์กรต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือ เพราะมีแนวโน้มว่าจนถึงกลางปีนี้จะมีนักข่าวถูกเลิกจ้างอีกประมาณ 1,000 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยอย่างยิ่ง
จากการประชุมระดมความคิดครั้งนี้ ตัวแทนแต่ละองค์กรได้เสนอแนวทางเร่งด่วนให้ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือนักข่าวในภาวะวิกฤติ จัดตั้งหน่วยงานถาวรในการประสานงานเก็บรวบรวมข้อมูลและติดต่อกับองค์กรต่าง ๆ ที่จะให้การช่วยเหลือนักข่าวที่ประสบปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้นักข่าวที่ประสบปัญหาได้ตำแหน่งงานโดยเร็วและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวของนักข่าวที่ประสบปัญหา ความสามารถพิเศษ และผลงานที่ผ่านมา นำเสนอต่อองค์กรที่จะรับหรือมีงานชั่วคราวให้นักข่าวทำ และการตั้งบริษัทขึ้นมาดำเนินการหาทุนช่วยให้นักข่าวมีงานทำและเป็นตัวกลางในการกระจายงานที่เป็นรายได้พิเศษ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอเรื่องพื้นที่สำหรับขายสินค้าตามศูนย์การค้า ศูนย์การประชุม และเปิดดำเนินกิจการอื่น ๆ รวมถึงการจัดสรรโครงการต่าง ๆ ของบริษัทให้กับนักข่าวรับไปทำ พร้อมทั้งจะส่งข่าวสารความเคลื่อนไหวด้านตลาดแรงงานให้ศูนย์ฯ ทราบทุกระยะ
นายดำฤทธิ์ กล่าวอีกว่า จากการระดมความคิดครั้งนี้ได้รับประโยชน์เป็นอันอย่างมาก ทำให้มีแนวทางช่วยเหลือนักข่าวที่ประสบปัญหาให้มีงานทำ มีรายได้ เพื่อช่วยให้ยืนหยัดต่อสู้ภาวะวิกฤติต่อไปได้จำนวนมาก และคณะกรรมการร่วม 3 สมาคม จะจัดรวบรวม ตำแหน่งงานทั้งหมดที่รวบรวมได้ไปจัดงานตลาดนัดแรงงานให้กับนักข่าวที่ประสบปัญหาด้วย นอกเหนือจากคัดเลือกส่งให้กับบริษัทต่าง ๆ ตามคุณสมบัติที่ต้องการแล้ว ดังนั้นขอให้นักข่าวและผู้ประสบภาวะวิกฤติในธุรกิจสื่อสารมวลชน ติดต่อแจ้งความจำนงขอความช่วยเหลือจัดสรรตำแหน่งงาน เพื่อกรอกประวัติส่วนตัว ความสามารถพิเศษ ผลงานที่ผ่านมา และภาพถ่าย เพื่อจะได้รวบรวมส่งให้บริษัทที่ต้องการ โดยให้ติดต่อได้ที่ ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือนักข่าวในภาวะวิกฤติ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เลขที่ท 55 อาคาร 8 ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานคร โทร.628-0621-5 โทรสาร 280-0337--จบ--
- ๒๓ ม.ค. ธนาคารกรุงเทพ ผนึก สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เสริมศักยภาพคนข่าว ต่อเนื่องปีที่ 18 ผ่าน "โครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง" ประจำปี 2567
- ๒๓ ม.ค. สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จับมือ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ชวนช้อปสุดคุ้มในงาน ตลาดนัดนักข่าว ครั้งที่ 6
- ม.ค. ๒๕๖๘ เคทีซีร่วมสนับสนุนทุนการศึกษาบุตร-ธิดา สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ