กรุงเทพ--9 ก.ย.--ปตท.
คาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ และสามารถ รับ-ส่ง ก๊าซฯ ได้กลางเดือนกรกฎาคม ปี 2541 ส่วนการวางท่อก๊าซฯ ในพื้นที่ป่าสมบูรณ์ประมาณ 6 กิโลเมตร จะลดความกว้างพื้นที่ใช้งานลงเหลือเพียง 12 เมตร และจะเริ่มดำเนินการในฤดูแล้งนี้ เพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด
นายปิติ ยิ้มประเสริฐ ผู้จัดการใหญ่ ปตท.ก๊าซธรรมชาติ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เปิดเผยถึงความก้าวหน้าโครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ไทย-พม่า มูลค่า 16,500 ล้านบาท เพื่อนำก๊าซฯ จากประเทศพม่า มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าสนองความต้องการของประเทศ และรองรับการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันตก ว่าได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปกว่า 60% ของโครงการฯ โดยรวม
ทั้งนี้ ในส่วนของการก่อสร้าง ซึ่งเริ่มดำเนินการหลังจากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว มีความก้าวหน้าไปกว่า 33% หรือช้ากว่าแผนเล็กน้อย โดยจากความยาวท่อฯ ทั้งสิ้นประมาณ 260 กิโลเมตร ปตท. ได้เริ่มวางท่อฯ จาก 2 จุดพร้อม ๆ กัน คือจากโรงไฟฟ้าราชบุรีขึ้นไป และจากพื้นที่นอกบริเวณเขตป่าใน จ.กาญจนบุรีลงมา จนถึงขณะนี้ได้ทำการฝังท่อและกลบเรียบร้อยแล้วรวมประมาณ 110 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนที่อยู่ใน จ.กาญจนบุรี 60 กิโลเมตร และใน จ.ราชบุรี 50 กิโลเมตร ส่วนการกรุยทางปรับพื้นที่แนวท่อฯ ได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 176 กิโลเมตร แบ่งเป็นใน จ.กาญจนบุรี 122 กิโลเมตร และ จ.ราชบุรี 54 กิโลเมตร นอกจากนี้ได้ดำเนินการปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างสถานีควบคุมความดัน (Block Valve Station) ซึ่งตั้งอยู่ตามแนวท่อเป็นระยะ ๆ แล้วจำนวน 5 สถานี จากทั้งสิ้น 12 สถานี
ผู้จัดการใหญ่ ปตท.ก๊าซฯ คาดว่าโครงการฯ จะแล้วเสร็จ และเริ่มรับ-ส่ง ก๊าซฯ ได้ในเดือนกรกฎาคมปีหน้าตามแผนที่ตั้งไว้ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศได้อยางมาก เป็นการสนองตอบนโยบายรัฐบาลในการเร่งจัดหาพลังงานเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งมีความต้องการสูงถึงปีละ 1,000-1,300 เมกะวัตต์ต่อปี และที่สำคัญยังเป็นปัจจัยพื้นฐานในการช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งท้องถิ่นและประเทศโดยรวมอีกด้วย
อนึ่ง โครงการฯ นี้ เป็นโครงการวางท่อส่งก๊าซฯ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 42 นิ้ว จากจุดเชื่อมต่อบริเวณชายแดนไทย-พม่า ที่บ้านอีต่อง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ถึงโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ขนาด 4,600 เมกะวัตต์ ที่ อ.เมือง จ.ราชบุรี รวมระยะทางประมาณ 260 กิโลเมตร โดยในช่วงต้นประมาณ 50 กิโลเมตร มีความจำเป็นต้องผ่านพื้นที่ป่า ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ 44 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ป่าที่ผ่านการให้สัมปทานเพื่อทำประโยชน์ต่าง ๆ แล้ว อาทิ เหมืองร้าง สวนป่าปลูก แนวถนนขนแร่ ซึ่งในช่วงนี้ ปตท. จะใช้พื้นที่เพื่อการก่อสร้างกว้างประมาณ 20 เมตร (พื้นที่นอกเขตป่าใช้ประมาณ 25-30 เมตร) สำหรับพื้นที่ป่าที่เหลือประมาณ 6 กิโลเมตร ที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ปตท. ได้ลดพื้นที่ใช้งานลงเหลือประมาณ 12 เมตร
อย่างไรก็ดี ในการดำเนินงาน ปตท. ได้เตรียมแผนปฏิบัติงานเพื่อลดผลกระทบ ซึ่งจะเกิดขึ้นชั่วคราวระหว่างก่อสร้างไว้แล้วรวม 9 แผน และหลังจากการวางท่อก๊าซฯ แล้ว จะมีการปลูกต้นไม้ฟื้นฟูสภาาพพื้นที่บนแนวท่อฯ ในทันที โดยจะไม่มีการสร้างถนนเลียบตามแนวท่อฯ ในช่วงผ่านพื้นที่ป่าโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ยังมีคณะอนุกรรมการติดตาม และแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้เป็นผู้ควบคุมดูแลให้ ปตท. ปฏิบัติงานตามแผนอีกชั้นหนึ่งด้วย--จบ--