กรุงเทพ--7 พ.ย.--กระทรวงสาธารณสุข
หมอออกโรงเตือนตำรวจดับเพลิงและอาสาสมัครที่ปฏิบัติหน้าที่ดับเพลิงหรือภาวะฉุกเฉินจากสารเคมีระเบิด ให้ห่วงสุขภาพตนเองด้วย เพราะพบว่าส่วนใหญ่ไม่ค่อยสวมเครื่องป้องกันอันตราย หวั่นปัญหาแทรกซ้อนหลังเกิดเหตุ เพราะแก๊สบางตัวส่งผลกระทบเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมาก
นายแพทย์ปรากรม วุฒิพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ที่กระทรวงสาธารณสุขเมื่อเช้าวันนี้ เกี่ยวกับความคืบหน้าการเฝ้าระวังสารพิษในอากาศซึ่งเกิดจากเพลิงไหม้โรงงานท่อพี.วี.ซี ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะกง จังหวัดชลบุรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 ว่า ตนได้รับรายงานจากนายแพทย์วิวัฒน์ วิริยะกิจจา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมในการประสานงานและปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ในภาวะฉุกเฉินกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระหว่างเกิดเหตุและหลังเหตุการณ์สงบ ผลจากการตรวจอากาศของศูนย์แวดล้อมเขต 3 จังหวัดชลบุรีทั้งในพื้นที่เกิดเหตุและ พื้นที่ใกล้เคียงสภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ประกอบกับลมหนาวได้พัดเอากลุ่มควันไฟ ออกสู่ทะเลไปหมดแล้ว และล่าสุดได้รับการยืนยันจากนักวิชาการของกองจัดการสารอันตรายและกากของเสีย กรมควบคุมมลพิษว่า ผลเถ้าที่เหลือจากเพลิงไหม้ส่วนใหญ่เป็นโพลิเอทเธอลีน สามารถฝังกลบได้ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่เหมือนกับช่วงที่เกิดจากการเผาไหม้เป็นควัน ซึ่งจะมีแก๊ซพิษเกิดขึ้นคือ คาร์บอนมอนนอกไซด์ ไฮโดรคลอลิกแอซิกหรือกรดเกลือ ฟอสจิ่น (Phosgine) และอื่น ๆ ซึ่งล้วนทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจทั้งสิ้น หากมีจำนวนมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามทางจังหวัดชลบุรียังคงดำเนินการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศต่อไปอีก 1 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการปนเปื้อนสารพิษในอากาศจริง ๆ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า แต่ที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องเท่าที่ได้รับฟังจากผู้อยู่ในเหตุการณ์คือกลุ่มผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้เพลิงสงบ ซึ่งได้แก่ตำรวจดับเพลิง เจ้าหน้าที่อาสาสมัครฯ ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะลุยเข้าไปดับเพลิงทันทีไม่สวมชุดป้องกันอันตรายจากควันพิษเลย ซึ่งน่าเป็นห่วงมากที่สุด ซึ่งจะเป็นเพราะเคยชินหรือภาวะเร่งรีบก็ตาม อยากให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการงานด้านนี้ได้ตระหนักถึงพิษภัยที่อาจเกิดกับตนเองบ้าง ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้เสียสละทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ควรจะต้องทราบว่าควันพิษชนิดต่าง ๆ ที่ตนจะเข้าไปสัมผัสนั้นมีผลกระทบอย่างไรต่อสุขภาพ เพราะสารพิษบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายภายหลัง จากเหตุการณ์ที่ชลบุรีครั้งนี้มีตำรวจดับเพลิงและเจ้าหน้าที่ 150 คนร่วมปฏิบัติงาน ทางสาธารณสุขจังหวัดได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง ดูแลสอบถามติดตามผลด้านสุขภาพของพนักงานดับเพลิงทุกคน เป็นระยะเวลา 1 เดือน เพราะกลัวผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมาทีหลัง--จบ--
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตัวเอง การพลิกโฉมครั้งใหญ่ของคนไทยในการตรวจเอชไอวี!
- ธ.ค. ๒๕๖๗ สธ.เตือนตำรวจดับเพลิงและอาสาสมัครฯระวังภัยจากควันพิษ
- ๒๔ ธ.ค. "เดชอิศม์" ชวน "สื่อ" เปิดบ้านกรมอนามัย โลว์คาร์บ ไม่โลว์แคล ห่างไกล NCDs
- ๒๓ ธ.ค. "เดชอิศม์" ชวนคนไทยเตรียมตัวก่อนมีคู่ สร้างลูกด้วยรัก ส่งเสริมการเกิด อย่างมีคุณภาพ
- ๒๓ ธ.ค. กรมอนามัย แนะ มาตรการป้องกันโรคโนโรไวรัส หวั่นระบาดช่วงเทศกาล