กรุงเทพ--23 ก.ค.--กทม.
วันที่ 18 ก.ค. 40 เวลา 9.30 น. ดร.พิจิตร รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการเสวนา เรื่อง "ขยะอันตราย ภัยที่มองข้าม" ที่โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ ว่า ขยะอันตรายที่มาจากบ้านเรือนของประชาชนอาจเป็นบ่อเกิดที่อันตรายต่อร่างกาย และชีวิตสูญเสียได้ ซึ่งในต่างประเทศได้มีการแยกขยะอันตรายออกจากขยะปกติทั่วไปแล้ว โดยให้เป็นภาระกิจของประชาชนต้องช่วยกันให้ความร่วมมือ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กทม. จะขอแยกขยะอันตรายออกจากขยะปกติได้อย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ถึงไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายที่จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องการแยกขยะอันตรายออกจากขยะปกติ แต่กทม.ได้เตรียมความพร้อมโดยจัดถังไว้รองรับขนาด 100 ลิตร "ตัวถังสีเทา ฝาสีแสด" ประมาณ 2,000 ใบ วางไว้ตามสถานีบริการน้ำมัน สถานที่ราชการของกทม. ห้างสรรพสินค้า บริเวณหัวถนนสายต่าง ๆ และจัดรถเก็บขนขยะอันตราย จำนวน 42 คัน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนแยกขยะอันตรายใส่ถุงก่อนนำออกมาทิ้งลงถังที่กทม.จัดเตรียมไว้ อย่างไรก็ตาม ตนขอเรียนว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแยกขยะอันตรายออกจากขยะปกติ มิฉะนั้นแล้ว ขยะอันตรายอาจมีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของสารอันตรายปนเปื้อนสู่ระบบน้ำใต้ดิน และน้ำผิวดิน เข้าสู่วงจรอาหารส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และสภาวะแวดล้อมในเรื่องของสารตกค้างได้
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวต่อไปว่า ในการแยกขยะอันตรายของกทม.นั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า การเก็บขนขยะอันตรายจะมีการเก็บขนแยกโดยไม่มีการนำไปปนกับขยะปกติ จากการสำรวจพบว่า มีขยะอันตรายจากบ้านเรือนประชาชน ประมาณ 23 ตัน/วัน โดยกทม. จะนำรถเพื่อเก็บขนขยะอันตรายทั้งหมดไปไว้ในศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย 3 แห่ง คือ อ่อนนุช หนองแขม ท่าแร้ง เพื่อนำไปยังศูนย์กำจัดมูลฝอยอันตรายของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จ.ระยอง ต่อไป
อนึ่ง ขยะอันตรายที่มาจากบ้านเรือน ชุมชนที่ กทม.ได้เตรียมถังรองรับ ได้แก่ หลอดฟลูออเรสเซนต์ หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ กระป๋องสเปรย์ กระป๋องยาฆ่าแมลง เครื่องสำอางค์ และยารักษาโรคที่หมดอายุ ฯลฯ ซึ่งกทม. ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 40--จบ--