กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--กทม.
วันที่ 17 ก.พ. 41 เวลา 14.15 น. ที่โรงเรียนวัดราชพิช (มัธยม) เขตพระนคร ดร.พิจิตร รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมชี้แจงนโยบายและการดำเนินงานตามโครงการ "ดับเครื่องยนต์ช่วยลดมลพิษ" แก่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่โรงเรียน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า สถานประกอบการ คอนโดมิเนียม และหอพัก จากนั้นผู้ว่าฯ กทม. พร้อมคณะ ได้เดินทางไปทำการสุ่มตรวจสอบรถรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ บริเวณถนนท้ายวัง ข้างวัดโพธิ์ ตามโครงการดังกล่าวด้วย
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในการดำเนินงานตามโครงกากร "ดับเครื่องยนต์ช่วยลดมลพิษ" นั้น กทม. ได้ให้เขตพระนครเป็นเขตนำร่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดมลภาวะตามสถานที่สาธารณะ โดยเฉพาะโบราณสถานบริเวณท้องสนามหลวงและใกล้เคียง เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) วัดพระเขตพนฯ (วัดโพธิ์) โดยให้เจ้าหน้าที่เขตฯ สุ่มตรวจสอบตามสถานที่สาธารณะ นอกเหนือจากการตรวจอาคาร สำหรับในส่วนของอาคารต่าง ๆ ได้ขอให้ผู้ประกอบการ เจ้าของอาคารแนะนำลูกค้า ผู้ใช้บริการร่วมมือในโครงการดับเครื่องยนต์ช่วยลดมลพิษ รวมทั้งเพิ่มป้ายประชาสัมพันธ์ในอาคารให้เพียงพอ
ดร.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัฒ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ กทม. ต้องเข้มงวดกวดขันในเรื่องของการควบคุมมลพิษจากรถยนต์ทุกชนิด เพราะการติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้เป็นการเพิ่มมลพิษอีกทางหนึ่ง และจากการสุ่มตรวจสอบรวมทั้งใช้เครื่องมือตรวจวัดบริเวณข้างวัดโพธิ์พบว่า มีมลพิษสูงเกินกว่ามาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร และประชาชนบริเวณโบราณสถาน กทม. จึงต้องดำเนินการลดมลพิษทุกวิธีทาง ตลอดจนได้มีมาตรการที่เข้มงวดออกมานอกเหนือจากการจับ-ปรับควันดำ-ควันขาว ฯลฯ
นพ.วันชาติ ศุำจัตุรัส รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า สิ่งหนึ่งที่กทม. กำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ คือการจอดรถอยู่กับที่แล้วติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ ทำให้เกิดผลเสีย ได้แก่ เปลืองน้ำมัน เครื่องยนต์สึกหรอ รวมทั้งสร้างมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ จึงขอความร่วมมือประชาชนผู้ขับขี่รถทุกชนิดได้โปรดช่วยกันดับเครื่องยนต์เมื่อจอดรถอยู่กับที่ ยกเว้นยานพาหนะที่ติดสัญญาณไฟจราจร ซึ่งตามโครงการดังกล่าวกทม. ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย. 40 การสุ่มตรวจสอบและตักเตือนเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 40 และการตรวจจับ-ปรับตามกฎหมาย เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 41 โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ 1.สถานที่เอกชน ซึ่งจะดำเนินการตามกฎหมายับเจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคาร 2.สถานที่สาธารณะจะดำเนินการกับผู้ขับขี่รถที่ติดเครื่องยนต์ได้ตลอดเวลาขณะจอดรถ ตาม พ.ร.บ. สาธรณสุข พ.ศ. 2535 ทั้ง 2 กรณี หากฝ่าผืนจะถูกดำเนินการตามกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ--จบ--