กรุงเทพ--17 พ.ย.--กระทรวงสาธารณสุข
จากโครงการป้องกันตาบอดและควบคุมสายตาพิการของกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการในทุกรูปแบบแม้ว่าจะขาดแคลนจักษุแพทย์ พบว่าอัตราคนตาบอดในประเทศไทยลดลงจากร้อยละ 1.14 เหลือเพียงร้อยละ 0.3 เป็นมาตรฐานที่ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว จนได้รับความเชื่อถือให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมจักษุแพทย์นานาชาติ
วันนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศูนย์จักษุสาธารณสุข โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา นายแพทย์ปรากรม วุฒิพงษ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการอบรมจักษุแพทย์นานาชาติ สำหรับประเทศในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ครั้งที่ 4 โดยมี นายแพทย์ดนัย ด่านวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นผู้กล่าวรายงาน สำหรับผู้เข้ารับการอบรมเป็นจักษุแพทย์และผู้บริหารโครงการป้องกันตาบอด และควบคุมสายตาพิการจำนวน 35 คน จาก 15 ประเทศคือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ลาว เขมร เวียตนาม พม่า ฟิลิปปินส์ จีน มองโกเลีย ฮ่องกง ภูฐาน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ใช้ระยะเวลาในการเข้ารับการอบรมครั้งนี้รวม 4 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 - 12 ธันวาคม 2540 ทั้งเป็นความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข โครงการไซส์เฟริสองค์การไลออนส์สากล องค์การอนามัยโลกเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และมหาวิทยาลัยจูเทนโด โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คาดว่าผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้แล้วจะสามารถไปดำเนินการบริหารจัดการโครงการควบคุมและป้องกันโรคสายตาพิการ ในประเทศของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดอัตราคนตาบอด และความพิการทางสายตาให้เหลือน้อยที่สุด
ในการนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะร่วมแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนเกี่ยวกับโครงการป้องกันตาบอดและควบคุมสายตาพิการของกระทรวงสาธารณสุขว่า หลังจากที่องค์การอนามัยโลกประกาศเมื่อปี 2521 กระตุ้มให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาตาบอดของประชาชน และให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการรณรงค์ต่อสู้ป้องกันตาบอด สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข โดยกองโรงพยาบาลภูมิภาค ได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนและต่อเนื่องมาตลอด โดยใช้มาตรการที่เป็นข้อสรุปจากการสัมมนาจักษุแพทย์ระดับชาติ คือมีการพัฒนาแพทย์และพยาบาลเวชปฏิบัติด้านจักษุ ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปจำนวน 92 แห่ง ล่าสุดมีโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลของกระทรวงฯ จำนวน 83 แห่งแล้วที่มีจักษุแพทย์และพยาบาลเวชปฏิบัติด้านจักษุครบตามอัตราส่วนคือ จักษุแพทย์ 1 คนต่อพยาบาลเวชปฏิบัติทางตา 2 คน รวมทั้งการพัฒนาระบบเครือข่ายทางตา จัดให้มีคลินิคพิเศษดูแลสุขภาพตา จัดโครงการรณรงค์โรคต้อกระจก ต้อหิน และอุบัติเหตุทางตา ใช้ระบบงานสาธารณสุขมูลฐานในการดำเนินการร่วมด้วย
นับจากจุดเริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบันรวมเวลา 20 ปี พบว่าการพัฒนาทั้งบุคลากรและสถานบริการรวมทั้งระบบการให้บริการแบบปฏิบัติการในพื้นที่โรงพยาบาลและในระดับเครือข่าย จนถึงระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง สามารถลดอัตราตาบอดจากร้อยละ 1.14 ในปี 2526 เหลือเพียงร้อยละ 0.31 ในปี 2537 โดยมีศูนย์จักษุสาธารณสุขโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการและมีบทบาทหน้าที่เป็นศูนย์กลางการให้บริการทางตา ที่ครบวงจร เป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมบุคลากร และทำการศึกษาวิจัย จนองค์การอนามัยโลกให้ความเชื่อถือรูปแบบในการปฏิบัติงานดังกล่าว และใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์ฝึกอบรมหลักสูตรจักษุแพทย์นานาชาติมาตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบันมีจักษุแพทย์ที่สำเร็จหลักสูตรนี้แล้วกว่า 100 คน กระจายไปตามภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก นับว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีต่อไปที่ประเทศไทยสามารถดำเนินการแก้ปัญหาตาบอดของคนในประเทศได้เกือบทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว--จบ--