กรุงเทพ--3 เม.ย.--สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
นางกนลา ขันทปราบ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงว่า ในโอกาสที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีในส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 1 ที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 22 เมษายน 2540 นั้น พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เร่งดำเนินการร่นระยะโครงการโขง-ชี-มูล จากเดิม 42 ปี เป็น 20 ปี เพื่อเร่งแก้ไขปัญกาการขาดแคลนน้ำ และลดปัญหาภัยแล้งของราษฎรในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างถาวร ด้วยการจัดและบริการใช้น้ำอย่างผสมผสานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธภาพในภาคฯ โดยให้น้ำผ่านแม่น้ำสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำมูลและแม่น้ำชีให้มากที่สุด หากไม่เพียงพอก็จะสูบน้ำจากแม่น้ำโขงมาเสริม ซึ่งจะสามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรได้ประมาณ 4.98 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 15 จังหวัด โดยแบ่งระยะพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ
ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการระยะพัฒนาที่ 1 ใช้เวลาพัฒนาตามแผนเดิม 9 ปี ระหว่าง ปี พ.ศ. 2535-2544 สามารถพัฒนาพื้นที่ชลประทานได้ 2.323 ล้านไร่ (รวมพื้นที่ชลประทานเดิม 0.305 ล้านไร่) ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ
ขั้นที่ 1 ขั้นฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงระบบชลประทานปัจจุบัน คือ โครงการชลประทานลำบาวเพื่อรองรับการขยายพื้นที่เพาะปลูกในฤดูแล้ง ซึ่งเมื่อสิ้นสุดการดำเนินการพื้นที่เพาะปลูกในฤดูแล้งจะเพิ่มขึ้นเป็น 50 % ของพื้นทั้งหมด
ขั้นที่ 2 ขั้นพัฒนาพื้นที่ชลประทานโดยทำการก่อสร้างฝายและระบบชลประทานบนลำน้ำชี-มูล จำนวน 13 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ จำนวน 403,480 ไร่
ขั้นที่ 3 ขั้นพัฒนาพื้นที่ชลประทานโดยใช้น้ำจากแม่น้ำแม่โขง ซึ่งจะมีการก่อสร้างคลองผันน้ำและอ่างห้วยหลวง พร้อมสถานีสูบน้ำ เพื่อส่งน้ำจากแม่น้ำโขงไปยังพื้นที่ชลประทานในลุ่มน้ำชี และลำน้ำมูล ตอนล่าง รวมทั้งลุ่มน้ำเซบาย เซบก จะครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 1,615 ล้านไร่
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2540 กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ประเทศออสเตรเลีย ให้ดำเนินการโครงการศึกษาสร้างแบบจำลองอุทกธรณีเพื่อการจัดการและคาดคะเนการกระจายดินเค็มในพื้นที่โครงการโขง-ชี-มูล มูลค่า 64 ล้านบาท ระยะเวลา 30 เดือน--จบ--
- ม.ค. ๒๕๖๘ การประชุมวิชาการนานาชาติ The 8th IUPAC International Conference on Green Chemistry มุ่งเน้นสร้าง Green Chemistry
- ม.ค. ๒๕๖๘ นาโนเทค สวทช. จับมือ คณะเภสัชศาสตร์ ม.รังสิต เดินหน้าพัฒนาศักยภาพเภสัชศาสตร์และนาโนเวชสำอาง
- ม.ค. ๒๕๖๘ เนทเทคเชิญร่วมงานแถลงข่าวผลการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการพัฒนา e-Thailand