กรุงเทพ--22 ก.ค.--บมจ.ธนาคารเอเชีย
แบงก์เอเชีย สานนโยบายสร้างฐานความมั่นคงทางธุรกิจเทียบเท่ามาตรฐานสากล เร่งตั้งสำรองสินทรัพย์ต่ำกว่ามาตรฐานตามกฎเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด
นายจุลกร สิงหโกวินท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในภาวะการณ์ปัจจุบัน ธนาคารเอเชียยังคงสานต่อนโยบายการสร้างมาตรฐานการดำเนินธุรกิจการเงินสู่ระดับสากล และให้ความสำคัญในการดำเนินการตั้งสำรองสินทรัพย์จัดชั้นตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เพื่อความพร้อมด้านศักยภาพในการรุกธุรกิจธนาคารในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ธนาคารเอเชียสามารถดำเนินการด้านการเพิ่มทุนได้เสร็จสิ้นเรียบร้อย ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินใหม่เข้ามาหมุนเวียนในธนาคารจำนวน 7,500 ล้านบาทในเดือน ส.ค. ส่งผลให้ธนาคารเร่งดำเนินการตั้งสำรองในการดำเนินงานงวดครึ่งปี 2541 ไว้สูงถึง 4,950 ล้านบาท
"เราต้องการสร้างความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจของธนาคารเอเชียให้เพิ่มมากขึ้น ภายหลังการลงนามในสัญญาการเข้าถือหุ้นจำนวน 75% ของธนาคารเอบีเอ็น แอมโร และเพื่อการก้าวเข้าสู่มาตรฐานธุรกิจการเงินในระดับสากล จึงได้ตั้งสำรองสินทรัพย์จัดชั้นให้ครบตามเกณฑ์เดิม คือ จำนวน 15% สำหรับสินทรัพย์ต่ำกว่ามาตรฐานและ 100% สำหรับสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญ" นายจุลกร กล่าว
สำหรับตัวเลขการเติบโตของสินทรัพย์ของธนาคารเอเชีย ณ 30 มิ.ย. 2541 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ธนาคารมียอดสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 128,803 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.12 ด้านยอดเงินฝากรวมทั้งสิ้น 112,838 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.44 และยอดสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 148,032 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.95 โดยสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ครึ่งแรกของปี 2541 ร้อยละ 20.7 ของสินเชื่อทั้งหมด
ส่วนผลประกอบการก่อนสอบทานในงวดครึ่งแรกของปี 2541 ธนาคารมีผลขาดทุนสุทธิ 5,441 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิประจำงวดต่อหุ้น 12.76 บาท อันเป็นผลจากการที่ธนาคารได้ตั้งสำรองสำหรับสินทรัพย์จัดชั้น เป็นจำนวนสูงถึง 4,950 ล้านบาท ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ย ทางด้านภาษีอากร และเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่เพิ่มสูงขึ้นตามสัดส่วนใหม่ที่ ธปท.กำหนด จากเดิม 0.1% เป็น 0.2% ของยอดเงินฝากและเงินกู้ยืม ทั้งนี้ในช่วงดังกล่าว ธนาคารมีอัตราการขยายตัวด้านเงินฝากสูงสุดสุดในระบบ ส่งผลให้ธนาคารต้องสมทบเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูเป็นจำนวนมาก
โปรดติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ฝ่ายบีเกคสัมพันธ์ 191 ถนนสาธรใต้ กรุงเทพฯ 10120 โทร. 285-1350, 285-1401 โทรสาร. 285-1372--จบ--