กรุงเทพ--9 ต.ค.--กทม.
วานนี้ (8 ต.ค. 40) เวลา 12.00 น. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร นายวศิน อรุณเกษร ประธานคณะกรรมการการศึกษาและสวัสดิการสังคม สภากทม. พร้อมด้วย นายรัศมี จันทร์กระจ่าง รองประธานฯ รวมทั้งคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย นางผุสดี วงศ์กำแหง ว่าที่ ร.ต.ชนัตพล เหมวุฒิ นางกฤษนันท์ เหลืองวัธนา นายแก้ว แห้วสันตติ นายสุนันท์ อึ้งทรงธรรม ได้ร่วมแถลงข่าวผลการเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ประถมศึกษา พ.ศ.2523 เรื่อง อำนาจการเกณฑ์เด็ก และมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ครู พ.ศ.2488 เรื่องสภาพครูกรุงเทพมหานครและการขอโอนโรงเรียนสังกัดสำนักงานประถมศึกษามาอยู่ในความดูแลของกทม. ต่อคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร
นายวศิน กล่าวว่า คณะกรรมการการศึกษาและสวัสดิการสังคม สภากทม. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาจึงได้มีการผลักดันเพื่อให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษา โดยคณะกรรมการการศึกษาฯ ได้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ประถมศึกษา พ.ศ. 2523 เรื่อง อำนาจการเกณฑ์เด็กเข้าเรียน โดยได้ขอแก้ไขดังกล่าวเพื่อให้การกำหนดให้อำนาจการเกณฑ์เด็กเข้าเรียน การกำหนดอายุเด็ก การถอดถอนการยกเว้นเด็ก และอำนาจการลงโทษผู้ปกครองที่ไม่ปฏิบัติตาม ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กทม. โดยตรงส่วนการเสนอขอแก้ไขมาตรา 24 แห่งพ.ร.บ.ครู พ.ศ.2488 นั้น เพื่อให้พ.ร.บ. ดังกล่าวครอบคลุมถึงครู บุคลากรสายงานศึกษาธิการเขต และศึกษานิเทศก์ของกทม. ด้วย ซึ่งจะทำให้ครูทุกสังกัดมีศักดิ์และสิทธิเสมอภาค รวมทั้งความก้าวหน้าในวิชาชีพเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ข้อเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนี้ คณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร ได้เห็นสอดคล้องกับกทม. จึงให้กรุงเทพมหานครเสนอกรอบแนวคิดในการที่จะแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ ไปยังสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
สำหรับการโอนโรงเรียนสังกัดสำนักงานการประถมศึกษา มาอยู่ในความดูแลของกทม. ซึ่งมีอยู่จำนวน 38 โรงเรียนนั้น คณะกรรมาธิการเห็นว่า กทม. มีโรงเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบอยู่ถึง 429 โรงเรียน ที่จะต้องดูแลให้มีคุณภาพ ไม่สมควรไปขอรับโอนโรงเรียนในสังกัดอื่นเข้ามารับผิดชอบอีก
นายวศิน กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ทางคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎรยังได้เสนอแนะเรื่องการปรับโครงสร้างการศึกษาของ กทม. และการบริหารงานบุคลากรว่า ควรให้มีการกระจายอำนาจทางการศึกษา ทั้งด้านบริหาร วิชาการ งบประมาณ การพัฒนาบุคลากรสู่ระดับโรงเรียนให้มากที่สุด และให้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วย รวมทั้งให้สำนักการศึกษามีบทบาททางการศึกษาสูงขึ้น โดยมุ่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา เรื่องการบริหาร วิชาการ หลักสูตรการเรียนการสอน รวมทั้งการพัฒนาครู ตลอดจน กทม.ควรมีการพัฒนาศูนย์วิชาการเขตให้มีประสิทธิภาพพร้อมที่จะเป็นศูนย์ประสานงานทางวิชาการให้บริการทางการศึกษาสำหรับศูนย์วิชาการเขตและโรงเรียนทั่วไป นอกจากนี้สำนักสวสดิการสังคม สำนักพัฒนาชุมชน สำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ ควรมีการประสานงานอย่างมีเอกภาพ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการบริหารและส่งเสริมการศึกษา--จบ
- ธ.ค. ๒๕๖๗ กทม.แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนบริเวณซอยพิบูลย์วัฒนา 13 เขตพญาไท
- ธ.ค. ๒๕๖๗ คณะกรรมการการศึกษาและพัฒนาชุมชนสภากทม. เน้นเพิ่มงบฯ พัฒนาการศึกษา
- ธ.ค. ๒๕๖๗ สภากทม. เห็นชอบ 2 ญัตติ เรื่อง “การศึกษา และจัดสร้างสนามกีฬาลอนโบลว์”
- ธ.ค. ๒๕๖๗ สภากทม.เห็นชอบให้โรงเรียนกรุงเทพมหานครเตรียมความพร้อมซักซ้อมอพยพนักเรียน กรณีประสบอัคคีภัย