กรุงเทพ--12 พ.ค.--ส.ก.ศ.
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2541 ดร.รุ่ง แก้วแดง เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว "โครงการครูแห่งชาติ" ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร 2 ชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
งานแถลงข่าวในครั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอมเรศ ศิลาอ่อน ประธานคณะกรรมการปฎิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ได้เข้าร่วมสนทนาพิเศษในหัวข้อ "ครูกับการศึกษาในทศวรรษหน้า" ด้วย
ศาสตราจารย์ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล ที่ปรึกษาสำนักงานโครงการพิเศษเพื่อการปฎิรูปการฝึกหัดครู พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เปิดเผยถึงความเป็นมาของโครงการครูแห่งชาติว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ตระหนักชัดถึงปัญหาต่าง ๆ ของชาติ เช่น เศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ การเมือง ฯลฯ ตลอดจนทิศทางของประเทศไทยในอนาคต ล้วนมีความเกี่ยวพันกับปัญหาการศึกษาไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าในระยะยาวแล้วการศึกษาคือกุญแจในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของชาติอย่างชัดเจนที่สุด และครูก็คือหัวใจของกุญแจนั้น วิสัยทัศน์ที่ยาวไกล, การวางเป้าหมายที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามกระแสโลกและการดำเนินการไปสู่เป้าหมายดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้ชาติได้สร้างประชากรที่มีคุณภาพทัดเทียมกับนานาประเทศ
การจัดการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นจะต้องได้ครูดี ที่มีความรู้ความสามารถ อุทิศตนให้กับงานพัฒนาการเรียนการสอนด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู สำนักงานคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ ได้จัดทำแผนหลักการปฎิรูปการฝึกหัดครู พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมี 5 แผนงานหลักคือ การสรรหาคนเข้าเรียนวิชาชีพครู การพัฒนาคณาจารย์ทางครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ การปฎิรูปการเรียนการสอบในสถาบันฝึดหัดครูการพัฒนาวิชาชีพครู และการจัดตั้งราชวิทยาลัยราชครุศาสตร์ ให้เป็นองค์กรวิชาชีพครูที่มีประสิทธิภาพ แผนหลักฯนี้ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและได้นำไปดำเนินการให้บังเกิดผลในทางปฎิบัติ
โครงการครูแห่งชาติในปีนี้ เป็นโครงการนำร่อง ที่มุ่งพัฒนา "ครู" เป็นหลัก โดยถือหลักง่ายๆ ว่าการที่จะได้ครูที่มีคุณภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้ชีวิตครูมีคุณภาพเสียก่อน ทว่าในปัจจุบัน คุณภาพชีวิตของครูกลับอยู่ในการวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าตอบแทนในวิชาชีพที่ต่ำกว่าอาชีพอื่น ส่งผลให้ความตั้งใจและทุ่มเทในการเรียนการสอนของครูลดต่ำลง อีกทั้งยังไม่สามารถดึงดูดกลุ่มคนที่มีความรู้ให้ก้าวเข้ามาสู่วิชาชีพนี้มากขึ้น ดังนั้นโครงการครูแห่งชาติ จึงถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการสร้างชาติในระยะยาว
วัตถุประสงค์ของ "โครงการครูแห่งชาติ" คือ เพื่อยกย่องและผดุงเกียรติคุณแห่งวิชาชีพครู, เพื่อให้เกิดเครือข่ายในการพัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษา, เพื่อเป็นการยกย่องและให้กำลังใจแก่ครูที่ทำงานหนักและมีผลงานดีเด่น, เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนดี คนเก่ง สนใจเข้าเป็นครู ท้ายสุดเพื่อสร้างบุคลากรครูต้นแบบให้แก่วงการวิชาชีพครู โดยครอบคลุม "ครู" ทุกคน ทุกประเภท ทุกระดับการศึกษา ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และองค์กรประชาชน
คุณสมบัติของครูที่จะได้รับคัดเลือกเป็นครูแห่งชาตินั้น จะต้องเป็นครูที่เคยมีผลงานส่งเสริมคุณภาพการศึกษาอย่างเด่นชัด, เป็นครูประจำการในโรงเรียนของรัฐหรือเอกชนไม่น้อยกว่า 5 ปี (ในวันที่ 1 กันยายน 2541) และยังสามารถปฎิบัติหน้าที่เป็นครูประจำการต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 3 ปี มีคุณธรรม วินัย เป็นแบบอย่างเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและจะต้องมีแผนหรือโครงการที่มีลักษณะริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะพัฒนาคุณภาพเพื่อนครูและครูรุ่นหลังต่อไป
ส.ก.ศ. ได้ตั้งเป้าหมายในปี 2541 ไว้ว่า จะมีครูแห่งชาติ 14 คน สาขาวิชาละ 2 คน ซึ่งในปีแรกนี้จะเน้นเฉพาะครูมัธยมศึกษาใน 7 สาขาวิชาหลัก คือ วิชาเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ครูแห่งชาติจะได้รับการยกย่อง ประกาศเกียรติคุณ และค่าใช้จ่ายดำเนินการโครงการที่จะดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ยังได้ทำการตั้งเป้าหมายระยะยาว 5 ปี (ปี 2541 - 2545) ไว้ดังนี้ คือภายในระยะเวลา 5 ปี จะมีครูแห่งชาติประมาณ 6,000 คน และจะเน้นครูระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และฝึกหัดครูในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นลำดับต่อไป
ด้านกระบวนการคัดเลือกครูแห่งชาตินั้น เริ่มจากการคัดเลือกครูผู้มีผลปฎิบัติงานดีเด่น โดยให้ส่งผลงานในอดีตมาประเมิน ผู้ได้รับการคัดเลือก จะต้องเสนอโครงการที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต เพื่อการพัฒนาการฝึกหัดครู ต่อจากนั้นจะได้รับการยกย่องให้เป็นครูแห่งชาติระดับ 1 และจะเปิดโอกาสให้ครูแห่งชาติระดับ 1 ซึ่งทำงานประสบผลสำเร็จ สามารถส่งผลงานเข้าประเมินเป็นครูแห่งชาติระดับ 2 และครูแห่งชาติระดับ 2 ซึ่งทำงานประสบผลสำเร็จก็สามารถยื่นผลงานเข้าประเมินอีกครั้ง เพื่อเลือกเป็นครูแห่งชาติระดับ 3 โดยโครงการที่ยื่นเสนอตั้งแต่ระดับ 1-3 จะต้องเป็นโครงการที่มุ่งพัฒนาการฝึกหัดครู และ/หรือการศึกษาของชาติโดยรวม ตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
หลังได้รับคัดเลือก ครูแห่งชาติจะต้องปฎิบัติงานด้านการเรียนการสอนตามปกติ และจะต้องปฎิบัติงานที่เป็นภาระกิจของครูแห่งชาติ ดังนี้ เริ่มจากจะต้องดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาตามที่นำเสนอเช่น การวิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน หรือทำหน้าที่ครูต้นแบบ Master Teacher ในการส่งเสริมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อไป พร้อมยกย่องขึ้นเป็นผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาวิชาชีพครูในโรงเรียนหรือบริเวณใกล้เคียงเพื่อพัฒนารูปแบบการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อแผนกประชาสัมพันธ์บริษัท โบเซลล์ แพ็ตเตอร์สัน จำกัดโทร. 637-0270 แฟ็กซ์ : 637-0280-2--จบ--