กรุงเทพ--7 ก.ค.--สภากาชาดไทย
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ขอความร่วมมือโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งภาครัฐ และเอกชน ทบทวนการนำโลหิตไปใช้ในการรักษาผู้ป่วย ควรใช้ด้วยการประหยัด และจำเป็นจริง ๆ เพื่อให้ภาวะโลหิตสำรองไม่พอจ่ายคลี่คลายลง
ศ.นพ.ชัยเวช นุชประยูร ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้กล่าวชี้แจงถึงเรื่องนี้ ว่าจากการที่กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และทบวงมหาวิทยาลัยปรับปรุงนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับงานบริการโลหิต พ.ศ.2538 เพื่อให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการด้านวิชาการ และด้านบริการ ที่จะรักษาผู้บริจาคโลหิตที่มีคุณภาพดีไว้ และเพิ่มความปลอดภัยในโลหิตบริจาคให้กับผู้ป่วยทำการตรวจคุณภาพ การเก็บรักษาโลหิต และส่วนประกอบโลหิตจากภายใน และภายนอกองค์กรอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องการส่งเสริมและกระตุ้นให้มีการใช้โลหิตอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ คือ ไม่ใช้โลหิตโดยไม่จำเป็น มีการให้ความรู้ในการใช้ส่วนประกอบของโลหิตอย่างถูกต้อง อีกทั้งกระตุ้นให้มีการใช้โลหิตของตนเอง (autologous blood transfusion) ดังนั้นศูนย์บริการโลหิตฯ จึงได้ขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามนโยบายระดับชาติ เพื่อความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้โลหิต คือ ขอให้ใช้โลหิตเท่าที่จำเป็น และมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า ต้องใช้โลหิตเพื่อการรักษาเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากโลหิตที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว อาจจะยังอยู่ในช่วงวินโดว์พีเรียด (window period) ของการติดเชื้อ เอชไอวี (HIV infectious) จากข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกา ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เอชไอวี จากการรับโลหิตประมาณ 1 ใน 670,000 ยูนิต จึงเชื่อได้ว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน แม้จะต่ำกว่านี้ก็จริง ยิ่งมีการใช้โลหิตมากยิ่งมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นอีกด้วย หากมีการใช้สารอื่นทดแทนโลหิตได้ให้พิจารณาทดแทนไปก่อน นอกจากนี้ศูนย์บริการโลหิตฯ ยังได้เน้นย้ำไปยังผู้บริหารโรงพยาบาลต่าง ๆ อีกว่า ไม่ควรแสวงหาผลกำไรจากการรักษาด้วยการถ่ายโลหิตให้กับผู้ป่วย ทั้งนี้เนื่องจากโลหิตที่ใช้กับผู้ป่วยเหล่านี้ ได้มาจากการบริจาคโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ดังนั้นการนำโลหิตบริจาคไปแสวงหาผลกำไร เป็นการทำลายระบบงานบริการโลหิตที่ดีของประเทศในที่สุด และควรจะส่งเสริมให้มีการบริจาคโลหิตเพื่อการผ่าตัดของตนเอง ที่เรียกว่า autologous blood transfusion ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งศูนย์บริการโลหิตฯ ยินดีที่จะให้บริการในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ การขอความร่วมมือเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ เพราะปริมาณการจ่ายโลหิตให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ยังทำไม่ได้เต็มที่ เพราะมีการขอใช้เข้ามาในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น แต่เดิมเป้าหมายในการจัดหาผู้บริจากโลหิตในเขตกรุงเทพมหานคร เดือนละ 25,000 ยูนิต ก็เพียงพอ แต่ปัจจุบันหาได้เดือนละ 30,000 ยูนิต ยังไม่พอ จะต้องทำให้ได้เดือนละ 33,000 ยูนิตขึ้นไป และทั่วประเทศต้องหาโลหิตให้ได้ปีละ 1.4 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้น ขณะนี้คณะอนุกรรมการรณรงค์เพิ่มผู้บริจาคโลหิต ได้จัดทำโครงการต่าง ๆ ขึ้นมา เช่น การจัดทำโครงการเข้าไปรับบริจาคโลหิตตามอาคารสำนักงานต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพ และการเข้าไปรับบริจาคโลหิตในนิคมอุตสาหกรรมฯ นอกจากนี้ศูนย์บริการโลหิตฯ ยังได้รับความร่วมมือจาก หน่วยงานเอกชน สนับสนุนกิจกรรมบริจาคโลหิต อาทิ โครงการ Brand's Young Blood โดยซุปไก่สกัดตราแบรนด์ ร่วมกับศูนย์บริการโลหิต จัดโครงการเชิญชวนนิสิต นักศึกษา ในมหาวิทยาลัยร่วมบริจาคโลหิต บริษัท มีเดีย พลัส ผู้จัดทำรายการวิทยุ จัดทำโครงการ "ให้เลือด...ให้ชีวิต" เชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคโลหิต เป็นต้น ซึ่งหากได้รับความร่วมมือในการจัดกิจกรรมสม่ำเสมอเช่นนี้ จะทำให้ประชาชนได้เข้าใจเรื่องการบริจาคโลหิตยิ่งขึ้น และในวงกว้างมากขึ้น
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์และจัดหาผู้บริจาคโลหิต โทร. 252-4106-9 ต่อ 114, 161, 162 --จบ--
- ๒๓ ธ.ค. TM เผยนำเข้าสินค้าใหม่เสริมจุดแกร่งขายโรงพยาบาลทั่วประเทศ มั่นใจความต้องการซื้อเครื่องมือแพทย์ดันยอดขายทั้งปีแตะ 700 ล.
- ๒๓ ธ.ค. "PANEL" บุกสเปนจับมือ MANUSA เตรียมแผนขยายธุรกิจครั้งใหญ่ เจาะกลุ่มโรงพยาบาลทั่วประเทศ
- ธ.ค. ๒๕๖๗ มูลนิธิเวิร์คพอยท์เพื่อการกุศล จัดโครงการ "คนไทยช่วยคนไทย" มอบเครื่องผลิตออกซิเจนอัตโนมัติ 110 เครื่อง ให้แก่ 17 รพ.