กรุงเทพ--20 พ.ย.--บีแอลซีพีฯ
บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement - PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระยะเวลา 25 ปี ตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระหรือ IPP (Independent Power Producer) ครั้งที่ 1 ระยะที่ 2
บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด จะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามูลค่าประมาณ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะเริ่มการก่อสร้างโรงไฟฟ้าประมาณกลางปี 2543 ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุต และจะใช้เวลาในการก่อสร้างจนเสร็จสมบูรณ์ประมาณ 3 ปีครึ่ง โครงการนี้จะใช้ถ่านหินนำเข้าคุณภาพสูง (บิทูมินัส) เป็นเชื้อเพลิง โดยมีกำหนดเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าจากเครื่องแรกเข้าสู่ระบบของ กฟผ.ได้ในเดือนตุลาคม 2545 และจากเครื่องที่สองในเดือนกุมภาพันธ์ 2546
ในส่วนของการระดมทุน บริษัทจะเริ่มระดมทุนเพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในปี 2542 ซึ่งคาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยจะเริ่มฟื้นแล้ว และจะเป็นการลงทุนที่สำคัญของประเทศ
บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด ประกอบด้วยผู้ร่วมทุนซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจและมีความชำนาญเฉพาะด้าน 4 บริษัท คือ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) PowerGen plc. และ Rio Tinto plc. โดยมีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 30, 30, 30 และ 10 ตามลำดับ
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานและเหมืองแร่ โดยมี 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจถ่านหินและแร่ ธุรกิจไฟฟ้าและไอน้ำ และธุรกิจวิศวกรรมบริการ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทชั้นนำของประเทศไทยที่มีธุรกิจหลายประเภททั้งทางตรง และผ่านบริษัทย่อยในเครือ รวมถึงธุรกิจการผลิตกระแสไฟฟ้า PowerGen plc. เป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนจากประเทศอังกฤษรายใหญ่ของโลก มีความชำนาญในด้านการบริหารโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และเป็นที่ยอมรับในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และ Rio Tinto plc. เป็นหนึ่งในบริษัทเหมืองแร่จากประเทศอังกฤษที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นบริษัทที่ส่งออกถ่านหินสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้ามากที่สุดในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์
บริษัท บ่อวินเพาเวอร์ จำกัด เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นจากการร่วมทุนของบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้นำในด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทย ถือหุ้น ร้อยละ 51 และบริษัท International Generating จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท Bechtel บริษัทที่มีชื่อเสียงในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งธุรกิจด้านพลังงาน ทั้งในสหรัฐอเมริกา และทั่วโลก ถือหุ้น ร้อยละ 49 โดยมี นายอนุตร จาติกวณิช เป็นกรรมการผู้จัดการ
บริษัท บ่อวินเพาเวอร์ฯ ได้เข้าร่วมประมูลในโครงการผู้ใช้ไฟฟ้าอิสระ (IPP) รอบแรก ระยะที่ 2 และได้รับความไว้วางใจจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและตอบสนองความต้องการด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ โดยได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 25 ปี ขนาดกำลังการผลิต 713 เมกะวัตต์ ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจะส่งให้กับการไฟฟ้าทั้งหมดตามปริมาณความต้องการของการไฟฟ้าฯ โครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทฯตั้งอยู่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมชลบุรี จังหวัดชลบุรี เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ใช้เงินลงทุนสำหรับโครงการรวมทั้งสิ้นประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงและน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรอง ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาตกลงสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ขั้นสุดท้ายกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2540 นี้
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าจะเริ่มทำการก่อสร้างในปลายปี พ.ศ. 2541 และเริ่มส่งกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2544 โดยสาระสำคัญในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะมีดังนี้
1. กฟผ.รับซื้อไฟฟ้าจาก บริษัทฯ ตามราคาค่าความพร้อมจ่ายพลังไฟฟ้า (B/kw) ที่ได้ระบุในสัญญา โดยที่ค่าความพร้อมจ่ายนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินระหว่างเงินเหรียญสหรัฐ และเงินบาท
2. ค่าพลังงาน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ค่าเชื้อเพลิง และค่าบำรุงรักษาแปรผัน (B/Mwh) เป็นส่วนที่สะท้อนถึงต้นทุนแปรผันของโรงไฟฟ้าฯ โดยทางกฟผ.จะจ่ายให้บริษัทฯ ตามปริมาณไฟฟ้าที่กฟผ.สั่งจ่าย (Dispatch)
ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายไฟจะเริ่มมีผลบังคับใช้หลังจากที่ทางบริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด โทร.2070591-5--จบ--
- ธ.ค. ๒๕๖๗ วว. / BLCP ลงนามขยายความร่วมมือ มุ่งพัฒนาของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน
- ธ.ค. ๒๕๖๗ วว. ให้บริการที่ปรึกษาวิศวกรรม บ. BLCP ด้านลดปัญหาการสั่นสะเทือน / ป้องกันความเสียหาย ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า
- ธ.ค. ๒๕๖๗ วว.จับมือ บ.บีแอลซีพี เพาเวอร์ วิจัยพัฒนา นำชีวมวลร่วมกับถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า สร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากของเหลือทิ้ง