กรุงเทพ--21 เม.ย.--กรมวิทยฯ
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เดินเครื่องโครงการควบคุมสารพิษตกค้างในผัก/ผลไม้ หวังกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกให้ผู้ประกอบการค้าผัก ผลไม้ ตระหนักถึงความสำคัญและมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ในการจำหน่ายผลิตผลที่ปลอดภัยจากสารพิษโดยสร้างระบบตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งต่อประชาชนผู้บริโภค และชื่อเสียงที่ดีทางการค้าของผู้ประกอบการด้วย
ดร.เรณู โกยสุโข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่าถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีหลายส่วนราชการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตผลที่ปลอดภัยจากสารพิษ โดยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือการใช้เท่าที่จำเป็นและถูกวิธี เพื่อมิให้เกิดสารพิษตกค้างที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่จากการติดตามตรวจสอบเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในแต่ละปี พบปริมาณสารตกค้างในผักผลไม้ทั่วไปเกินค่าความปลอดภัยอย่างแท้จริง เพราะการเฝ้าระวังโดยการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตผลที่จำหน่ายให้ท้องตลาดเป็นการดูแลที่ปลายทาง และไม่สามารถสืบแหล่งผลิตเพื่อแก้ไขปัญหาได้ ฉะนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริการประกันคุณภาพห้องปฎิบัติการต่าง ๅ จึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชน คือผู้ประกอบการค้าผัก ผลไม้ มีการจัดทำระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักผลไม้ก่อนจำหน่ายถึงมือผู้บริโภค โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำแนวทางให้ผู้ประกอบการปฎิบัติเพื่อประกอบการของรับรองระบบการตรวจสอบสารพิษที่เหมาะสมกับประเทศไทย ได้แก่ ระบบบริหารจัดการตั้งแต่โครงสร้างขององค์กร หน้าที่ความรับผิดชอบ วิธีดำเนินการตรวจสอบ การพัฒนาบุคลากร สำหรับนำไปสู่การปฎิบัติการตรวจสอบสารพิษตกค้างที่ถูกต้องและเป็นระบบ
กรมวิทยาศาสตร์ จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการค้าผัก ผลไม้สมัครเข้าสู่ระบบการควบคุมสารพิษในผักผลไม้ ซึ่งหากท่านสามารถดำเนินงานได้ตามข้อกำหนดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะออกใบรับรองให้ โดยผู้ประกอบการสามารถแสดงเครื่องหมายบนฉลากของสินค้าได้ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะประชาสัมพันธ์รายชื่อผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองผ่านสื่อมวลชนต่าง ๆ และ Home page ของกรม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบจะได้เกิดความมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้า และในวันที่ 16 มีนาคม 2542 นี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดให้มีการสัมมนาผู้ประกอบการเพื่อรับแนวทางการจัดทำระบบงานดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย ผู้ประกอบการค้าผักผลไม้ และผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป จำนวน 30 คน จาก 22 บริษัท ผู้สนใจทราบเพิ่มเติมรายละเอียดได้ที่ กองอาหารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธาณสุข โทร. 5910203-14 ต่อ 9611,9622--จบ--