กรุงเทพ--3 ต.ค.--กทม.
วันที่ 2 ต.ค. 40 เวลา 10.30 น. ที่ห้องปฎิบัติการสำนักนโยบายและแผนกทม. ชั้น 5 ศาลาว่าการ กทม. ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ และวิธีการในการคัดเลือกผู้สมควรดำรงดำแหน่งจุฬาราชมนตรี
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สืบเนื่องจากนายประเสริฐ มะหะหมัด จุฬาราชมนตรี ได้ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 40 ทำให้ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีว่างลง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ประชุมปรึกษาหารือวางหลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรีต่อไป ซึ่งที่ประชุมดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์ และวีธีการคัดเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี มีรายละเอียดดังนี้ 1. กำหนดให้กรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศจำนวน 384 คน เป็นผู้ใช้สิทธิคัดเลือก 2. การคัดเลือกให้ดำเนินการภายในเดือนตุลาคม 2540 ณ วิทยาลัยการปกครอง อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี 3. จุฬาราชมนตรี ต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.... ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว 4. ให้กรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีต่อที่ประชุมในวันคัดเลือก ณ วิทยาลัยการปกครอง หากมีผู้ได้รับการเสนอชื่อหลายคน ให้ลงคะแนนคัดเลือกโดยวิธีลับ และ 5 หลักฐานที่จะใช้แสดงตนในวันคัดเลือก ใช้บัตรประจำตัวกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หรือบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ซึ่งสามารถให้แทนบัตรประจำตัวประชาชนได้
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การเตรียมการคัดเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เป็นไปด้วยความเรีบบร้อย ในวันนี้กรุงเทพมหานครจึงได้เชิญกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร มาประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ และวิธีการในการคัดเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ซึ่งในที่ประชุมได้เสนอความคิดเห็นหลากหลาย สรุปได้ดังนี้ 1. กำหนดให้กรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ 384 คน เป็นผู้ใช้สิทธิคัดเลือก 2. วิธีการคัดเลือก กรณีมีผู้เสนอเกินกว่า 2 ท่าน ต้องมีการลงคะแนนคัดเลือกอีกครั้งหนึ่ง 3. ผลการคัดเลือก หากมีคะแนนเท่ากัน ขอให้พิจารณาคัดเลือก โดยให้ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดลงคะแนนตัดสินอีกครั้งหนึ่ง และ 4. สำหรับผู้ถูกเสนอชื่อเพื่อรับการคัดเลือกนั้น ต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 50 ท่าน เนื่องจากตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นตำแหน่งที่มีความเชื่อถือ และเป็นที่เคารพ ศรัทธาของประชาชนทางศาสนาอิสลาม
ทั้งนี้กรุงเทพมหานครจะได้นำข้อคิดเห็นดังกล่าวเสนอกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาต่อไป--จบ--