กรุงเทพ--21 ส.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
การประชุมคณะรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของ 10 ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 15 ในปีนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ในระหว่างวันที่ 26-29 สิงหาคม 2540 ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร
นายแพทย์จำรูญ มีขนอน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข 10 ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 15 ( 15th Meeting of Ministers of Health of the Countries of WHo South-East Asia Region) ได้แก่ ไทย บังคลาเทศ อินเดีย เนปาล ภูฎาน มัลดิฟส์ เกาหลีเหนือ อินโดนีเซีย พม่า และศรีลังกา ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26-29 เมษายน 2540 นี้ โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม ซึ่งจะมีขึ้นที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่จะมีการประชุมที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พศ. 2524 และได้จัดติดต่อกันมาทุกปี ซึ่งภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคเดียวที่สามารถจัดการประชุมเช่นนี้ได้ อันแสดงถึงความร่วมมือประสานงานงานกันในการพัฒนาการสาธารณสุขในภูมิภาคนี้มาเป็นเวลาอันยาวนาน
การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะจากการประชุมครั้งที่ผ่านมาและที่ประเทศอินโดนีเซียซึ่งแต่ละประเทศจะได้นำเสนอความก้าวหน้า ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการแก้ไขปัญหาสาธารณสุข และพิจารณาการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสาธารณสุขระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อที่จะบรรลุสุขภาพดีถ้วนหน้าในปี 2543 นอกจากนี้ยังจะพิจารณาและรับรองปฎิญญาณว่าด้วยการพัฒนาสาธารณสุขในภูมิภาคนี้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะมุ่งเน้นการสร้างเครือข่าย ประสานความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยยึดหลักที่ว่าการสาธารณสุขเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาทั้งมวล
การประชุมประกอบด้วยการบรรยาย อภิปราย และการศึกษาดูงาน โดยจะได้มีการศึกษาดูงานเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขของไทย และสถานการณ์สาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยาสำหรับผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศไทยประกอบด้วย นายมนตรี พงษ์พาณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้ง ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ประสบการณ์ และข้อมูลข่าวสาร ระหว่างผู้บริหารซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจในระดับนโยบายเพื่อหาแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในภูมิภาคนี้อย่างได้ผลต่อไป--จบ--