กรุงเทพ--4 ส.ค.--สภาพัฒน์
เมื่อเร็ว ๆ นี้ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น (กนภ.) ครั้งที่ 2/2540 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุม กนภ. ได้มีมติเห็นชอบในเรื่องสำคัญ ๆ 3 เรื่อง ดังนี้
1) กรอบแนวทางการพัฒนาเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นในช่วงแผนฯ 8 ได้แก่
ก. แนวทางการพัฒนาที่สำคัญ 3 แนวทาง ประกอบด้วย
1.1 การเพิ่มความสามารถของคนในชนบท โดยเริ่มจากการพัฒนาชุมชนก่อน เพื่อให้คนในชุมชนมีศักยภาพเพียงพอ สามารถพึ่งตนเองได้ และมีความพร้อมที่จะรับประโยชน์จากการกระจายตัวทางเศรษฐกิจที่ไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ต้องหากิจกรรมหรือตัวนำที่เป็นการพัฒนาศักยภาพของคน ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาร่วมกันได้ดีที่สุด โดยควรมีกิจกรรมหลายประเภท เช่น ภาคเกษตรกรรม ควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับระบบการเกษตรที่มีความหลากหลายทางการผลิต ซึ่งให้ผลดีทั้งทางเศรษฐกิจในระดับครัวเรือน เกษตรกรและชุมชน รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน แรงงาน รวมทั้งมีส่วนในการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ โดยผสมผสานความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่กับภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาคอุตสาหกรรม ควรสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่ชุมชนสามารถเป็นเจ้าของและบริหารจัดการโดยใช้แรงงานและวัตถุดิบในท้องถิ่น และภาคบริการ ควรสนับสนุนให้ชุมชนจัดทำธุรกิจบริการ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละจังหวัด ตลอดจนอำเภอเพื่อกำหนดพื้นที่การกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่จังหวัดและอำเภอต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมและไม่ขัดแย้งกัน
1.2 การกระจายเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ต้องพิจารณากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ควรกระจาย และกำหนดพื้นที่สำหรับรองรับ ขณะเดียวกันก็ต้องจัดโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมให้สอดคล้องกับเป้าหมายกิจกรรมและพื้นที่การพัฒนาในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ การใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนเป็นตัวนำ โดยเน้นการสนับสนุนผู้ประกอบการในท้องถิ่น และการโยกย้ายอุตสาหกรรมออกจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นพิเศษ ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำลังพิจารณาแนวทางการส่งเสริมในเขต 3 พิเศษ จำนวน 13 จังหวัด การพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพในภูมิภาคให้สนับสนุนระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อแข่งขันกับนานาชาติ และช่วยกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคเช่นการพัฒนาตามแนวเส้นทาง ทางหลวงหมายเลข 9 เชื่อมอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก-พิษณุโลก ขอนแก่น-มุกดาหาร ออกสู่สุวรรณเขต การพัฒนาพื้นที่ชายแดน ฯลฯ การพัฒนาพื้นที่เขตความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ โครงการความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ และโครงการความร่วมมือเศรษฐกิจสามฝ่าย ไทย-อินโดนีเซีย-มาเลเซีย
1.3 การปรับนโยบายการพัฒนาทางด้านต่าง ๆ ให้เกื้อหนุนการพัฒนาเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น เช่น การเงินการคลังท้องถิ่น โดยปรับปรุงการจัดเก็บรายได้จากภาษีและค่าธรรมเนียมของท้องถิ่นให้มากขึ้นเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาชุมชน การกระจายอำนาจการบริหารงานพัฒนาจากส่วนกลางไปสู่องค์กรท้องถิ่นและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาอย่างแท้จริง เป็นต้น
ข. การแปลงแนวทางไปสู่การปฏิบัติ
เนื่องจากการดำเนินงานเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นตามแนวทางข้างต้น ต้องอาศัยการสนับสนุนด้านนโยบาย แผนงานและโครงการจากส่วนกลางทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากประชาชนในระดับพื้นที่ จึงควรมีการประสานการดำเนินงานที่จะลงสู่พื้นที่อย่างใกล้ชิด ทั้งในระดับประเทศ ระดับภาค และระดับชุมชน โดยให้ฝ่ายเลขานุการ กนภ. เป็นผู้ประสานการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชนให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นในช่วงแผน 8 ต่อไป
2) แนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ประกอบด้วยแนวทางดังนี้
2.1 การเพิ่มประสิทธิภาพและทักษะให้แก่สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลทางด้านบทบาทหน้าที่ กฎระเบียบ การบริหารงบประมาณ รวมทั้งกระบวนการจัดทำแผนและดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง
2.2 การเสริมสร้างกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่าง อบต. และชุมชนในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และยั่งยืน
2.3 สนับสนุนกระบวนการเสริมสร้างศักยภาพ อบต. อย่างต่อเนื่องในระยะยาว โดยจัดตั้งสถาบันอิสระเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนทางวิชาการ ตลอดจนการบริหารจัดการในการพัฒนาบุคลากรของ อบต. และชุมชนให้แก่หน่วยงานที่มีหน้าที่ทางด้านการพัฒนาความเข้มแข็งขององค์การบริหารส่วนตำบลต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุม กนภ. ยังได้เห็นชอบให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจประสานแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์การบริหารส่วนตำบล ภายใต้ คณะกรรมการ กนภ. ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากภาคราชการ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ โดยมีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นประธาน และผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการ กนภ. เป็นเลขานุการ โดยให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ นี้ มีหน้าที่ประสานการดำเนินงานสร้างความเข้มแข็งขององค์การบริหารส่วนตำบล และพิจารณาความเป็นไปได้ในรูปแบบการจัดตั้งสถาบันเพื่อสนับสนุนทางวิชาการในการพัฒนาความเข้มแข็งขององค์การบริหารส่วนตำบลต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุม กนภ. ได้ให้ข้อสังเกตเรื่อง การเร่งดำเนินการให้ความรู้ครอบคลุมเรื่องการบริหารการคลังท้องถิ่นให้แก่สมาชิก อบต. นอกเหนือจากการบริหารงบประมาณ และการหารายได้ให้แก่ท้องถิ่นเนื่องจากที่ประชุมมีความห่วงใยเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณ ของ อบต. โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบวิธีการ ซึ่ง สมาชิก อบต. อาจไม่ทราบ--จบ--