กรุงเทพ--3 ต.ค.--เนคเทค
เมื่อวันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม 2540 ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้แถลงให้ทราบว่า สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยได้ตกลงเข้าร่วมกับประเทศคู่ค้าขององค์การค้าโลก (WTO) ตามพันธะข้อตกลงสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA : Information Technology Agreement) ซึ่งจะเป็นการลดภาษีศุลกากรในการนำเข้าของสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ ตั้งแต่ ค.ศ. 1997 จากอัตราปัจจุบันให้เป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2000 สำหรับรายการชุดแรก และ ค.ศ. 2005 สำหรับรายการชุดที่สองนั้น คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2540 เมื่อวันพุธที่ 15 มกราคม 2540 ให้จัดทำมาตรการเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการแข่งขันของสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศของไทย โดยมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยประสานงานในการดำเนินการ
กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โดยเนคเทค จึงได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยสถานภาพอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ตลอดจนเปรียบเทียบกับสถานการณ์โลก และในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อหาทิศทางที่เหมาะสมที่ประเทศไทยจะแข่งขันได้ ได้ทำการประสานงานกับภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด เป็นต้นว่าเมื่อวันที่ 22 กันยายน นี้ ก็ได้เชิญผู้แทนจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ให้มาร่วมเสนอข้อคิดเห็นในเบื้องต้น เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางการปรับโครงสร้างการผลิตและการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจะได้เสนอให้แก่คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ดำเนินการจัดตั้งอนุกรรมการจากทุกกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องที่กล่าวข้างต้น มาทำการประชุมปรึกษาหารือและจัดสัมมนา ประชาพิจารณ์ในรายละเอียดต่อไป ตามแนวทางที่คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติเคยปฏิบัติมา เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ออกความเห็นก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการใด ๆ ต่อไป
ร่างดังกล่าวได้เสนอโครงการไว้ 4 โครงการ คือ
(1) โครงการเพิ่มมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ ที่มีการผลิตและการส่งออกสูงโดยมีเป้าหมายที่การประกอบแผนวงจรไฟฟ้า (IC Packaging) ฮาร์ดดิสก์ (Hard Disks) มอนิเตอร์ (Monitor) และเครื่องใช้ในครัวเรือน (Home Appliances) เป็นสำคัญ โดยวิธีการให้มีการผลิตชิ้นส่วนให้กับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ภายในประเทศให้มากขึ้น
(2) โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงเพื่อการส่งออก ได้แก่ การผลิตแผ่นเวเฟอร์วงจรรวมไฟฟ้า (Wafer Fabrication) จอแสดงผลแบนราบ (Flat Panel Displays) และการออกแบบวงจรรวมไฟฟ้า (IC Designs) เป็นสำคัญ
(3) โครงการผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมและพัฒนาซอฟท์แวร์เพื่อทดแทนการนำเข้าโดยกลุ่มโทรคมนาคมจะได้แก่ ชุมสายโทรศัพท์ขนาดใหญ่ (Class 5 Switches) เครือข่ายกระจายไร้สาย (Wireless Local Loop) เครื่องรับโทรศัพท์ไร้สาย (Wireless Handset) และอุปกรณ์เครือข่าย (Networking Equipment) ส่วนกลุ่มซอฟท์แวร์ ได้แก่ ซอฟท์แวร์ด้านการผลิต (Manufacturing Software) ซอฟท์แวร์ด้านโทรคมนาคม (Telecommunication Software) และซอฟท์แวร์การเรียนรู้และมัลติมีเดียภาษาไทย (Edutainment and Thai Multimedia Software)
(4) โครงการสนับสนุนผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม ให้สามารถใช้การออกแบบผลิตภัณฑ์ด้านคอมพิวเตอร์ (CAD/CAM) การออกแบบและผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB Design and Fabrication) การประกอบและทดสอบชิ้นส่วนแบบยึดติดผิว (SMD Assernbly and Testing) และการทดสอบผลิตภัณฑ์ทางด้านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สภาวะแวดล้อมและความปลอดภัย
ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ยังได้กล่าวเน้นว่า ทั้งหมดนี้เป็นร่างแนวทางเพื่ออนุกรรมการจะได้ดำเนินการในรายละเอียดตลอดจนรับฟังข้อคิดเห็นจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่อไป เพื่อจะให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ซึ่งขณะนี้มีความจำเป็นที่ต้องระดมความคิดจากทุกฝ่ายในการที่จะแก้ไขปัญหาการส่งออกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดและเทคโนโลยีในระดับสากล มุ่งประโยชน์ประเทศชาติโดยส่วนรวมมิใช่เพื่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง และร่างดังกล่าวหากได้รับอนุมัติจะเป็นแนวทางให้กระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานเอกชน ที่เกี่ยวข้อง ได้นำไปปฏิบัติต่อไป โดยที่เนคเทคมิได้เป็นผู้ปฏิบัติโดยลำพัง แต่จะดำเนินการเฉพาะในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีเป็นสำคัญ--จบ--