สภากาชาดไทยแถลงข่าวโครงการ "6 รอบในหลวง ร้อยใจปวงประชา ร่วมใจมาบริจาคโลหิต"

อังคาร ๒๐ มกราคม ๑๙๙๘ ๑๘:๔๖
กรุงเทพ--20 ม.ค.--สภากาชาดไทย
วันนี้ (20 มกราคม 2541) เวลา 11.00 น. นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นประธานแถลงข่าว โครงการ "6 รอบในหลวง ร้อยใจปวงประชา ร่วมใจมาบริจาคโลหิต" ร่วมด้วย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ประธานคณะกรรมการจัดหาและสงเสริมผู้ให้โลหิตแห่งสภากาชาดไทย และ ศ.นพ.ชัยเวช นุชประยูร ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ดำเนินการแถลงข่าวโดย นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์ ซึ่งโครงการนี้ สภากาชาดไทย โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และคณะกรรมการจัดหาและส่งเสริมผู้ให้โลหิตแห่งสภากาชาดไทย จัดขึ้นเพื่อเป็นโครงการหลักในการ เชิญชวนให้ประชาชนทั่วประเทศได้ร่วมกันบริจาคโลหิต เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยระยะเวลาของโครงการนี้จะต่อเนื่องตั้งแต่ 1 มกราคม 2541-31 ธันวาคม 2542
นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวว่า ด้วยในปีพุทธศักราช 2541-2542 รัฐบาลได้ขอความร่วมมือให้หน่วยงานต่าง ๆ จัดกิจกรรมเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ สภากาชาดไทย จึงได้จัดทำโครงการ "6 รอบในหลวง ร้อยใจปวงประชา ร่วมใจมาบริจาคโลหิต" ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้ คือ เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนร่วมบริจาคโลหิตอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน หากประชาชนร่วมบริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ จะส่งผลให้ปริมาณโลหิตมีเพียงพอใช้ และการที่กล่าวได้เช่นนี้ เนื่องจากว่าสภากาชาดไทย เคยจัดทำโครงการ "ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ปวงประชาร่วมใจบริจาคโลหิต" เมื่อปี 2538-2539 ส่งผลให้ได้รับโลหิตบริจาคทั่วประเทศเป็นจำนวน 1,797,247 ยูนิต และมีผู้ร่วมบริจาคโลหิตในโครงการระยะเวลาดังกล่าว จำนวน 1,382,540 คน
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากการที่คณะกรรมการส่งเสริมผู้ให้โลหิตแห่งสภากาชาดไทย มีหน้าที่โดยตรงในการช่วยส่งเสริม และสนับสนุนกิจการของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ให้บรรลุเป้าหมายในการจัดหาโลหิตบริจาคให้มีปริมาณเพียงพอ และปลอดภัย สำหรับการใช้รักษาผู้ป่วยทั้งในโรงพยาบาล รัฐบาล และเอกชน โดยสนับสนุนให้มีการพัฒนางานบริการโลหิตของประเทศไทยก้าวเข้าสู่ระดับที่ต้องคำนึงถึงเรื่องคุณภาพ และมีเรื่องของการบริหารจัดการระบบบริการโลหิตในขั้นตอนต่าง ๆ และสนับสนุนในการจัดหาผู้บริจาค พยายามเจาะกลุ่มเป้าหมายที่จะบริจาคโลหิตได้ พยายามขยายหน่วยงานที่จะบริจาคโลหิตให้มากขึ้น ในเรื่องของการเจาะเก็บโลหิตส่งเสริมในเรื่องบุคลากรเพื่อมาปฎิบัติหน้าที่ เจาะเก็บโลหิตและเสริมทักษะต่าง ๆ เพื่อความชำนาญงาน งานด้านคัดกรองคุณภาพโลหิต สนับสนุน และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจไปสู่ประชาชนทั่วไป ในเรื่องของการตรวจสอบโลหิต ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติดำเนินการอยู่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย และในเรื่องของการจัดเก็บและจ่ายโลหิต สร้างภาพพจน์ให้เห็นชัดเจนว่า ศูนย์บริการโลหิตช่วยเหลือในการจ่ายโลหิตช่วยเหลือ ผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่าง ๆ นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังได้สนับสนุนในการหาทุนมาสนับสนุนงานบริการโลหิต ให้เจริญก้าวหน้าขึ้นไปตามมาตรฐานอีกระดับหนึ่งด้วย การจัดโครงการดังกล่าวนี้ขึ้นมาจะเป็นการสร้างแนวทางในรูปแบบเดียวกันต่อไป
นอกจากนี้ผู้ที่บริจาคโลหิตในโครงการดังกล่าว จะได้รับบัตรประจำตัวผู้บริจาคโลหิตแบบใหม่ซึ่งใช้แทนแบบเดิม ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งมีขนาดใหญ่ พกพาไม่สะดวก และเปื่อยยุ่ยได้ง่าย ซึ่งมีลักษณะแบบเดียวกับบัตรเครดิต และเหมาะที่จะใช้กับงานบริการโลหิตในขณะนี้ ซึ่งเป็นบัตรขนาด 9 ซม. X 5.5 ซม. พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตอาบมันด้าน ด้านหน้าบัตรจะอัญเชิญตราสัญลักษณ์พิธีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พร้อมทั้งได้รับเหรียญที่ระลึกโครงการฯ หากบริจาคโลหิตตามกำหนดภายในระยะเวลาของโครงการ คือ บริจาคได้ครบ 4 ครั้ง ได้เหรียญที่ระลึก 1 เหรียญ ถ้าบริจาคครบ 8 ครั้ง จะได้รับเหรียญที่ระลึก 2 เหรียญซึ่งจัดทำขึ้นเป็นพิเศษสำหรับผู้บริจาคโลหิตในโครงการนี้อีกด้วย
ศ.นพ.ชัยเวช นุชประยูร ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถือว่าความปลอดภัยของโลหิต ถือเป็นหัวใจสำคัญของงานบริการโลหิต นั่นคือการที่จะได้โลหิตที่ปลอดภัย ต้องเริ่มต้นที่ผู้บริจาคโลหิตเป็นสำคัญ และผู้บริจาคต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมและพร้อมที่จะบริจาคโลหิต ต้องเริ่มต้นที่ผู้บริจาคโลหิตเป็นสำคัญ และผู้บริจาคต้องมีคุณสามบัติเหมาะสมและพร้อมที่จะบริจาคโลหิต และที่สำคัญต้องไม่หวังสิ่งตอบแทน
ดังนั้นการจัดโครงการ "6 รอบในหลวงฯ" ขึ้นมานั้น มีเป้าหมายสำคัญที่จะได้ผู้บริจาคโลหิตสม่ำเสมอโดยบริจาคโลหิตทุก 3 เดือน ซึ่งได้พิจารณาจากสถิติที่ผ่านมาพบว่าจะมีผู้บริจาคโลหิตปีละ 1 ครั้ง สูงถึงร้อยละ 70 และบริจาคโลหิตเป็นประจำปีละ 2-3 ครั้ง เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น จึงทำให้ได้โลหิตบริจาคยังไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ คือ ประเทศไทยนั้นตั้งเป้าหมายว่าจะต้องได้โลหิตบริจาคอย่างต่ำร้อยละ 2 ของประชากร คือ ปีละ 1,400,000 ยูนิต แต่ปี 2540 ที่ผ่านมา ได้รับโลหิตบริจาคทั่วประเทศประมาณ 1,100,000 ยูนิต ทั้งนี้เพื่อให้ได้เป้าหมายตามที่ได้ตั้งเอาไว้นั้นประชาชนทั่วประเทศต้องร่วมมือร่วมใจกันบริจาคโลหิต โดยสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งมีระยะเวลา 2 ปี ระหว่าง 1 มกราคม 2541-31 ธันวาคม 2542 ทั้งนี้ก็เพื่อร่วมถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ