กรุงเทพ--1 ก.ย.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข เตรียมพร้อมด้านสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม สามารถควบคุมป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ แต่หากการสู้รบยังคงยืดเยื้อต่อไป อาจส่งผลให้เกิดปัญหาการดำเนินงานด้านสาธารณสุข เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ บุคคลากร และสถานที่
นายแพทย์ปราชญ์ บุญยวงศ์วิโรจน์ รองอธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์ ภายหลังจากตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานด้านสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้ลี้ภัยสงคราม ห้วยเชิง ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ว่า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้กำกับดูแลการดำเนินงานด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และสั่งการให้ศูนย์อนามัยสิ่งแวดล้อมเขต 5 จังหวัดนครราชสีมา ปฏิบัติงานช่วยเหลือด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งขณะนี้ได้มีการปรับปรุงระบบสุขาภิบาลให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้นทุกด้าน เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดได้
นับตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา ชาวกัมพูชาได้อพยพลี้ภัยสงครามเข้ามาอยู่ ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราวห้วยเชิง จำนวนกว่า 2 หมื่นคน จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถกลับคืนสู่ประเทศตนได้ ในการนี้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งให้ความช่วยเหลือดูแลสุขภาพอนามัยของผู้อพยพมาโดยตลอด ได้เตรียมความพร้อมด้านรักษาพยาบาลรองรับสถานการณ์การเจ็บป่วยอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ควบคู่กับการให้การดูแลด้านสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม เพื่อควบคุมป้องกันการเกิดโรคระบาด และขณะนี้ปรับปรุงระบบสุขาภิบาลให้ดีขึ้นแล้วทุกด้าน ได้แก่ การจัดหาน้ำดื่มน้ำใช้ ปรับปรุงคุณภาพน้ำดื่มให้สะอาดปลอดภัย อัตราวันละ 3 แสนลิตร เฉลี่ย 15 ลิตร/คน/วัน ซึ่งมีปริมาณเพียงพอ และน้ำใช้จากอ่างเก็บน้ำห้วยเชิง, การระบายน้ำ น้ำที่ใช้แล้วในแต่ละวันจะไหลผ่านร่องระบายน้ำสู่บ่อซึมเก็บกักน้ำ และผ่านกระบวนการบำบัดด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่ให้มีน้ำขังซึ่งจะเป็นบ่อเกิดของเชื้อโรค, ส้วม ได้เตรียมส้วมหลุม จำนวน 250 ที่เป็นส้วมถังปิดมิดชิด และใส่ปูนขาวเพื่อดูดซับให้แห้ง ป้องกันแมลงวันไต่ตอมและวางไข่แพร่เชื้อโรค, ขยะ ได้จัดเตรียมถังขยะและแจกจ่ายถุงขยะดำใส่ขยะ แล้วนำไปฝังกลบทุกวันกำจัดกลิ่นเน่า เหม็นและแมลงวันตอม และนอกจากนี้ยังได้ดำเนินการ ควบคุมกำจัดแมลง ด้วยการพ่นสารเคมีกำจัดแมลงวันและยุง อาทิตย์ละครั้ง
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ขณะนี้การดำเนินงานด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมไม่น่าห่วงใย สามารถควบคุมสถานการณ์โรคระบาดไว้ได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการดำเนินชีวิตของผู้อพยพลี้ภัยเป็นสิ่งสำคัญ ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพและโรคระบาดได้ และหากสถานการณ์การสู้รบยังคงยืดเยื้อต่อไป จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานด้านสาธารณสุขเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ บุคคลากร และสถานที่ ซึ่งตนจะนำปัญหาเสนอผู้บริหารระดับสูงเพื่อหาแนวทางวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป--จบ--
- ธ.ค. ๒๕๖๗ คนไทยกว่า 20 ล้านคน มียีนผิดปกติ ให้กำเนิดบุตรเป็นโรคโลหิตจาง
- ธ.ค. ๒๕๖๗ กทม.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขจัดโครงการ “รณรงค์รักษ์กรุงเทพ” เสริมสร้างพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เหมาะสม
- ๒๔ ธ.ค. "เดชอิศม์" ชวน "สื่อ" เปิดบ้านกรมอนามัย โลว์คาร์บ ไม่โลว์แคล ห่างไกล NCDs
- ๒๓ ธ.ค. "เดชอิศม์" ชวนคนไทยเตรียมตัวก่อนมีคู่ สร้างลูกด้วยรัก ส่งเสริมการเกิด อย่างมีคุณภาพ
- ๒๓ ธ.ค. กรมอนามัย แนะ มาตรการป้องกันโรคโนโรไวรัส หวั่นระบาดช่วงเทศกาล