กรุงเทพ--10 เม.ย.--กทม.
ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เม่อวันที่ 4 เม.ย. 41 นายถิรชัย วุฒิธรรม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการสัมมนาผู้ประกอบการสถานบันเทิง เรื่อง "สังคมทรุด? หยุด! ยาเสพติด" ประมาณ 400 คน โดยมีผู้บริหารระดับเขต ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาล และเจ้าของผู้ประกอบการสถานบันเทิงในพื้นที่ 10 เขต คือ เขตคลองเตย วัฒนา ลาดพร้าว ห้วยขวาง ดินแดง สาธร บางรัก จุตจักร ปทุมวัน และพระนคร รวมจำนวนประมาณ 400 คน ร่วมการสัมมนา
พล.ต.ท.นพดล สมบูรร์ทรัพย์ ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กล่าวว่า ตนขอขอบคุณกทม. เป็นอย่างยิ่งที่ได้เชิญผู้ประกอบการ โต๊ะสนุ๊ก ผับ และสถานบริการต่างๆ มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการช่วยกันดูแล ป้องกัน แก้ไขปัญหายาเสพติดของเด็กและเยาวชนช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งช่วงนี้เด็กมีเวลาว่างมากอาจจะไปใช้บริการในสถานบริการดังกล่าว และวิธีนี้จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้เด็กไปเสพยาเสพติด ในส่วนของการตรวจสอบแหล่งสถานบริการนั้น ตำรวจได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลสังเกตการณ์ว่า มีการมั่วสุมเสพยาเสพติดในสถานบริการหรือไม่ ประกอบกับการเชิญผู้ประกอบการมารับฟังข้อชี้แจงวันนี้ถือว่าได้มีการทำความเข้าใจกันแล้ว หากพบว่าผู้ประกอบการมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการยาเสพติดจะต้องถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจำเป็นต้องอาศัยการประสานและการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างจริงจัง เพื่อยับยั้งการระบาดของยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยาเสพติดไม่ได้ระบาดเฉพาะผู้ใช้แรงงานเท่านั้น แต่ยังมีเยาวชนในสถานศึกษาใช้ยาเสพติดเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นสถานบันเทิงยังเป็นแหล่งระบาดของยาเสพติดอีกด้วย กทม.จึงร่วมมือกับ ปปส. กรมตำรวจ และกองทัพบก จัดตั้งศูนย์ประสานต่อต้านยาเสพติดกรุงเทพมหานครขึ้นตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งศูนย์ดังกล่าวมีอำนาจในการป้องกันและปราบปรามอย่างเบ็ดเสร็จเพื่อรับมือ กับขบวนการยาเสพติดอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า การสัมมนาในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของศูนย์ประสานต่อต้านยาเสพติดหลายฝ่าย ได้แก่ กทม.กรมตำรวจ กองทัพบก ปปส. และเอกชน ในการร่วมมือกันสกัดกั้นปราบปรามแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานบันเทิงซึ่งเป็นแหล่งที่เยาวชนไปใช้บริการจำนวนมากได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของชาติ โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุด คือ ให้เป็นแหล่งบันเทิงที่ปลอดจากยาเสพติด เพื่ออนาคตของเยาวชนไทยมีคุณภาพ ห่างไกลยาเสพติดอย่างแท้จริง และภายหลังจากการประมวลผล รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการแล้ว กทม.และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะออกตรวจเยี่ยมตามสถานบันเทิงในพืนที่เป้าหมายต่อไป--จบ--