กรุงเทพ--22 พ.ค.--มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายจิรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ แจ้งว่า ผลงานวิจัยในนาของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เรื่อง "การศึกษาความเหมาะสมในการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และแผนการดำเนินงานในการโอนกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพให้กรุงเทพมหานคร" ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รับเป็นที่ปรึกษาดำเนินการวิจัยให้แก่กระทรวงคมนาคม โดยมี รองศาสตรจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ เป็นหัวหน้าคณะวิจัย ได้รับการตัดสินและอนุมัติให้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม สาขานิติศาสตร์ ประจำปี 2541 จากคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ ในการประชุมเพื่อพิจารณาตัดสิน เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2541 และจะได้จัดให้มีพิธีรับมอบรางวัลและเกียรติบัตรจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ประธานสภาวิจัยแห่งชาติในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ สภาวิจัยแห่งชาติจะจัดแถลงข่าวเรื่องรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติและรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม ประจำปีต่อสื่อมวลชน ณ สำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติในวันที่ 19 พฤษภาคม 2541 นี้
การพิจารณาตัดสินรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม ประจำปี 2541 ในครั้งนี้ คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติได้พิจารณาคัดเลือกและตัดสินจากผลงานวิจัยที่เสนอเข้ารับรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม ในสาขาวิชาต่าง ๆ 11 สาขาวิชา รวม 35 เรื่อง ในปีนี้ และมีมติให้งานวิจัยที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม จำนวน 4 เรื่อง ประกอบด้วย งานวิจัยในเรื่องนี้ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยมสาขานิติศาสตร์ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ ได้รับรางวัลดีเยี่ยม สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ งานวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลดีเยี่ยมสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา และงานวิจัยของมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับรางวัลดีเยี่ยมสาขาปรัชญา
สำหรับงานวิจัยของมหวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2541 นี้ เป็นการศึกษาแนวทางการดำเนินการ และการบริหารจัดการเกี่ยวกับการโอนกิจการ ขสมก. ให้แก่กรุงเทพมหานคร โดยเป็นงานวิจัยที่มีลักษณะสหวิทยาการที่เน้นหนักไปที่การดำเนินการทางกฎหมายและการแปรสภาพกิจการรัฐวิสาหกิจให้เป็นกิจการขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยได้เสนอกระบวนการดำเนินการทั้งในทางการบริหารงานและการจัดระบบการคลังท้องถิ่นที่จะรองรับการดำเนินกิจการดังกล่าว การจัดการประเด็นทางแรงงานสัมพันธ์ การปรับโครงสร้างขององค์กร ตลอดจนการปรับปรุงระบบการคิดต้นทุนและการปรับอัตราการจัดเก็บค่าโดยสารรถเมล์ รวมตลอดไปจนถึงการปรับเปลี่ยนเส้นทางการเดินรถของขสมก. ฯลฯ ด้วย โดยรายงานวิจัยดังกล่าวมีจำนวน 620 หน้า และนำเสนอเป็นรายงานฉบับสุดท้าย (Final Report) ต่อกระทรวงคมนาคม แล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2540
คณะผู้วิจัยในงานวิจัยดังกล่าว ประกอบด้วย รศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์, รศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ และ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร จากคณะนิติศาสตร์, รศ.ดร.พัชรี สิโรรศ และดร.จิรวรรณ เดชานิพนธ์ จากคณะรัฐศาสตร์, ผศ.สมชาย ศุภธาดา คณะพาณิชยศาสต์และการบัญชี, ผศ.ดร.สกนธ์ วทัญญูวัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์, คุณวิชัย หิรัญวงศ์ จากธนาคารแห่งประเทศไทย และรศ.ดร.วรพล สุวรรณนันต์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมีรศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ จากคณะรัฐศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาโครงการวิจัย
การได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยมในครั้งนี้ของคณะผู้วิจัยดังกล่าว ได้รับความชื่นชมจากผู้ทราบข่าวเป็นอย่างมาก ที่ได้แสดงให้สังคมวิชาการไทยได้ประจักษ์ถึงความสามารถในเชิงวิชาการในการค้นคว้าวิจัยและในการประยุกต์เอาวิชาการด้านต่าง ๆ มาใช้เป็นประโยชน์ในการจัดการแก้ไขปัญหาของสังคม อันเป็นภารกิจหนึ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดำเนินการให้แก่สังคมไทยต่อเนื่องกันมาโดยตลอด--จบ--
- พ.ย. ๒๕๖๗ รฟท. ขสมก. และกรุงไทย ผนึกกำลัง ผลักดัน "บัตรเหมาจ่าย" ชำระค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีแดง และรถโดยสาร ขสมก. ยกระดับคุณภาพบริการเดินทางระบบราง ระบบล้อแบบไร้รอยต่อ
- พ.ย. ๒๕๖๗ ดร.เอ้ อธิการฯสจล.เชื่อแผนฟื้นฟู ขสมก.อัพเกรดชีวิตคนกรุง
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: CARRO “พ่นน้ำยา ด้วยน้ำใจ สู้ภัยโควิด” อาสาดูแลรถตู้ขนส่งสาธารณะ พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ลดความเสี่ยง COVID – 19