กรุงเทพ--28 เม.ย.--กระทรวงสาธารณสุข
แพทย์เตือนประชาชนผู้นิยมการฝังเข็มเพื่อรักษาโรค หรือเสริมความงาม ควรเลือกใช้บริการจากแพทย์ที่ผ่านการอบรมวิชาการฝังเข็ม โดยสังเกตจากใบประกาศนียบัตรของกรมการแพทย์ จะมั่นใจในความปลอดภัยได้มาตรฐานมีคุณภาพ และราคาประหยัด
เมื่อวานนี้ (27 เมษายน 2541) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปรากรม วุฒิพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมการฝังเข็มรุ่นที่ 1 ว่า การฝังเข็มนับเป็นการแพทย์ทางเลือกใหม่ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะการฝังเข็มเพื่อลดน้ำหนักในกลุ่มวัยรุ่น ดารานักแสดง และประชาชนทั่วไป จนกลายเป็นธุรกิจทำรายได้อย่างมากมายแก่ผู้ให้บริการ สำหรับประเทศไทยมีแพทย์ที่ผ่านการอบรมการฝังเข็มถูกต้องตามกฎหมายประมาณ 30 คนเท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขและองค์กรที่เกี่ยวข้องจึงตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน ที่ไปใช้บริการการฝังเข็มกับแพทย์ที่ไม่มีใบรับรอง ซึ่งน่าเป็นห่วงในด้านมาตรฐาน ความปลอดภัย และราคาของการบริการ
นายแพทย์ปรากรม กล่าวต่อไปว่า แพทยสภาซึ่งเป็นองค์กรหลักในการควบคุมและพัฒนาการฝังเข็มตามกฎหมาย กำหนดให้มีการศึกษาพัฒนาศาสตร์เกี่ยวกับการฝังเข็มและให้มีการเรียนการสอนในหลักสูตรแพทย์ศาสตร์ พร้อมได้มอบหมายกรมการแพทย์รับผิดชอบ ดังนั้นโดยความร่วมมือการแพทย์ไทย-จีน ร่วมกับมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง และมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเซี่ยงไฮ้ จึงจัดการอบรมหลักสูตรการฝังเข็มรุ่นที่ 1 ขึ้น ระหว่างวันที่ 27 เมษายน - 24 กรกฎาคม 2541 ผู้เข้ารับการอบรมมีคุณสมบัติสำคัญคือ เป็นแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทยเท่านั้น โดยครั้งนี้มีผู้สนใจสมัครเข้ารับการอบรมเป็นจำนวนมาก แต่สามารถรับได้เพียง 25 คน เป็นภาคเอกชน 8 คน นอกนั้นเป็นส่วนราชการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แพทย์ที่ผ่านการอบรมมีความรู้ ประสบการณ์ในการฝังเข็ม สามารถให้การรักษาได้อย่างปลอดภัย มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและประหยัด ผู้ที่ผ่านการอบรมและสอบผ่านทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติครบ 3 ครั้ง ได้คะแนนร้อยละ 60 ขึ้นไป จะได้รับประกาศนียบัตรของกรมการแพทย์ มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเซี่ยงไฮ้ และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งจะเป็นสิ่งช่วยรับรองความมั่นใจแก่ผู้รับบริการ
นายแพทย์ชาติ พิชญางกูร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การฝังเข็มไม่ได้รักษาได้ทุกโรค แต่จะใช้รักษาได้ดีใน 5 กลุ่มโรค คือ กลุ่มโรคที่บาดเจ็บเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อ อาการปวดในผู้ป่วยมะเร็ง โรคระบบประสาททั่วไป ผู้ติดยาและสารเสพติด และโรคภูมิแพ้ โดยใช้จุดฝังเข็ม 150 จุด ในการรักษาอาการ ดังนั้นจึงมีข้อบ่งชี้เฉพาะและเกิดอันตรายได้หากดำเนินการไม่ถูกต้อง เตือนประชาชนที่ใช้การฝังเข็มเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาสุขภาพ ควรใช้บริการจากแพทย์ที่ผ่านการอบรมอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งสังเกตได้จากใบประกาศนียบัตรรับรองผ่านการอบรม ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ต้องแสดงไว้ให้ชัดเจนในสถานพยาบาลนั้น ๆ--จบ--
- ๒๓ พ.ย. กรมอนามัย ย้ำ ท้องถิ่นเร่งปรับปรุงระบบประปาหมู่บ้าน หลังพบการปนเปื้อนแบคทีเรีย
- ๒๓ พ.ย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาคุณภาพการตรวจน้ำตาลสะสมในเลือด มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพิ่มความแม่นยำในการรักษาเบาหวาน
- ๒๓ พ.ย. กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมอนามัย ผนึกกำลัง 7 องค์กร ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือการจัดประชุมสุขภาพช่องปากโลก วันที่ 26-29 พฤศจิกายน 2567