กรุงเทพ--8 ก.ย.--เอสแอลซี ลิสซิ่ง
บริษัท เอสแอลซี ลิสซิ่ง จำกัด ประกาศยื่นฟ้องในเมื่อวานนี้ ต่อคู่กรณีหลายราย ฐานไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายในการถอดถอน เอสแอลซี ลิสซิ่ง อย่างไม่ชอบธรรมจากการเป็นผู้บริหารเก็บค่างวดเช่าซื้อ อีกทั้งยังได้ดำเนินการโดยมิชอบ ทั้งๆ ที่สัญญาบริหารการจัดเก็บเงินค่างวดเช่าซื้อ ที่ทำกับเอสแอลซียังคงมีผลบังคับใช้อยู่
เอสแอลซี ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,035 ล้านบาทจากคู่กรณี ซึ่งได้แก่ บริษัท เอ็มบีไอเอ อินชัวรันซ์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งอยู่อาร์มังค์ นิวยอร์ก บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ซิทก้า จำกัด (มหาชน) บริษัท แบงเกอร์ ทรัสต์ อยู่ที่นิวยอร์ก บริษัท บีที ทรัสตี อยู่ที่ฮ่องกง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) และได้ยื่นฟ้องบุคคลคือ นางสาวสุดา สมศิริพรชัย และนายวีรวุฒิ สรรพกิจ ซึ่งทั้งคู่เคยเป็นผู้ช่วยของ นายวีระ มานะคงตรีชีพ อดีตกรรมการผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบงล.ซิทก้า
ทั้งนี้ นายวีระและนายวีรวุฒิมีรายชื่ออยู่ในผู้บริหาร 4 คน ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวหาว่าทำการบริหารเงินโดยมิชอบและห้ามมิให้เดินทางออกนอกประเทศ
มร.ยอร์จ คาแซนท์ซิส กรรมการผู้จัดการบริษัท เอสแอลซี ลิสซิ่ง จำกัด กล่าวว่า "คู่กรณีของเราไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมาย และยังคงดำเนินการในรูปแบบต่างๆ ที่หาประโยชน์ให้ตัวเองต่อไป ผมรู้สึกผิดหวังมากเพราะคู่กรณีที่เราฟ้องไม่สนใจที่จะให้ความร่วมมือเพื่อแก้ไขสถานการณ์นี้โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายหรือแม้แต่ดำเนินการเจรจาอย่างเหมาะสม นิติกรรมอำพรางที่เกิดขึ้นในยุคบงล.ซิทก้ายังคงไม่ได้รับการแก้ไข ขณะนี้คู่กรณีของเราพยายามยักย้ายคู่มือจดทะเบียนรถยนต์บางส่วนจากบงล. ซิทก้าไปยังทิสโก้ ลิสซิ่งโดยไม่ได้รับการยินยอมจากคู่สัญญาผู้เกี่ยวข้อง พวกเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะกระทำการดังกล่าว และเราจะทำทุกวิถีทางเพื่อนำสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ที่ถูกเอาไปใช้โดยมิชอบกลับคืนมา"
มร.คาแซนท์ซิสกล่าวเพิมเติมว่า "ตามข้อกำหนดในสัญญาแล้วสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ของบงล. ซิทก้าในโครงการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์นั้นต้องนำมาเก็บไว้เอสแอลซี ลิสซิ่งในฐานะผู้จัดการสัญญาภายใต้สัญญาการบริหารที่ทำไว้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2540 นอกจากนี้ ลูกค้าบัญชีเช่าซื้อของเอสแอลซีควรจะทราบว่าสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ของเอสแอลซี ลิสซิ่งนั้นถูกจัดเก็บไว้ที่บริษัทตั้งแต่แรก"
มร.คาแซนท์ซิส กล่าวเสริมว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาคือ อดีตผู้บริหารของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกสั่งปิด อาทิ บงล.ซิทก้า ยังคงทำงานอยู่ในบริษัทเหล่านั้นในนาม ปรส. "ถ้ายังปล่อยให้บุคคลที่เป็นต้นเหตุของปัญหาตั้งแต่แรกทำงานอยู่ที่เดิมก็คงไม่มีวันสะสางปัญหาของซิทก้าได้ แต่กลับจะยิ่งทำให้เกิดพฤติกรรมที่ผิดจรรยาบรรณและมีข้อขัดแย้งมากยิ่งขึ้น"
มร.คาแซนท์ซิสยังเชื่อด้วยว่า เอ็มบีไอเอมีอคติในการตัดสินใจถอดถอนเอสแอลซีโดยไม่ผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งการแต่งตั้งแบงเกอร์ ทรัสต์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บงล.ทิสโก้และทิสโก้ ลิสซิ่งแทนผู้บริหารชุดปัจจุบันของเอสแอลซี ลิสซิ่ง ได้ค้นพบความไม่ชอบมาพากลมากมายเกี่ยวกับการเข้าตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินที่เอ็มบีไอเอเป็นผู้กระทำอย่างหละหลวมเมื่อครั้งที่เข้ามาเป็นผู้รับประกันตั๋วเงินในโครงการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์มูลค่า 83 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2540
"เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากที่จะเกิดและลดความสับสนสำหรับลูกค้าเช่าซื้อ เราพยายามหารือเรื่องนี้กับเอ็มบีไอเอเป็นเวลาหลายเดือนแต่ก็ไม่เป็นผล" มร.คาแซนซิสกล่าวและว่า "เอ็มบีไอเอไม่ติดต่อกลับมาอีกผู้บริหารคนหนึ่งของเอ็มบีไอเอบอกกับเราว่า เขาเป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์ถึง 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และสามารถทำอะไรก็ได้ที่เขาต้องการ แต่ผมกลับประหลาดใจว่าทำไมบริษัทอเมริกันชื่อเสียงโด่งดังอย่างเอ็มบีไอเอถึงแสดงท่าทีอหังการ์และใช้คำพูดที่หมิ่นต่อกฎหมายได้ขนาดนั้น บางทีเขาคงคิดว่าช่วงนี้เป็นโอกาสเหมาะที่ไล่บี้บริษัทเล็กๆ ของคนไทย"
มร.คาแซนซิสยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าเอสแอลซี ลิสซิ่ง ถูกบีบให้ต้องดำเนินการทางกฎหมายเพื่อปกป้องลูกค้า พนักงาน และเจ้าหนี้ "เราพร้อมที่จะเจรจาและแก้ปัญหาให้ลุล่วง แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเอ็มบีไอเอไม่เคยติดต่อกลับ ดูเหมือนพวกเขาอยู่เหนือกฎหมาย" มร.คาแซนซิสกล่าวเสริมว่าในอาทิตย์นี้ จะมีการฟ้องเพิ่มเติมอีกภายในสัปดาห์นี้
สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ : ดวงกมล อิศรพันธุ์ เบอร์สัน มาร์สเตลเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด โทรศัพท์ 252-9871-7 โทรสาร 254-8353--จบ--