กรุงเทพ--3 ก.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก 6 จังหวัด ร่วมซ้อมแผนรับอุบัติเหตุจากสารเคมีหรือสารพิษ มีวิธีการช่วยเหลือแตกต่างจากอุบัติเหตุทั่วไป นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการซ้อมรับแผนดังกล่าว
นายแพทย์วินัย วิริยกิจจา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 3 เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกองสาธารณสุขภูมิภาคและโรงพยาบาลบ้านฉาง จับอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การเตรียมรับอุบัติภัยจากสารเคมีและพิษวิทยา แก่แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จากโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ใน 6 จังหวัด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ปราจีนบุรี และจันทบุรี ที่อยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมหรือริมทางหลวง จำนวน 150 คน ที่จังหวัดระยอง และมีการซ้อมแผนรับอุบัติภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย ครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายให้มีความรู้ในด้านพิษวิทยาของสารเคมี ตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารจัดการ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและการประสานงานระดับภูมิภาคและส่วนกลาง เมื่อเกิดเหตุการณ์จริงจะได้ไม่ตระหนก ตกใจ และไม่มีการทำงานซ้ำซ้อน โดยจำลองเหตุการณ์รถบรรทุกสารเคมี (เปอร์ออกไซด์) ชนกับรถโดยสารนักเรียนที่กลับจากทัศนศึกษา ณ สามแยกไฟแดง ตลาดบ้างฉาง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง มีถังสารเคมีกระเด็นออกมา 3-4 ถัง ต่อมามีกลุ่มควัน และเกิดการระเบิดขึ้น มีนักเรียนและประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงได้รับอันตรายจากสารเคมีดังกล่าว
การเข้าไปช่วยเหลืออุบัติเหตุจากสารเคมีจะแตกต่างจากอุบัติเหตุรถชนโดยสิ้นเชิง สิ่งสำคัญก่อนที่จะเข้าไปช่วยเหลือต้องทราบก่อนว่าเกิดจากสารเคมีหรือวัตถุอันตรายชนิดใด เพื่อจะได้เข้าไปให้การช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ถูกต้อง และผู้เข้าไปช่วยเหลือหาทางป้องกันตนเองได้ถูกต้อง เช่น ใส่ชุดป้องกันทั้งร่างกาย สวมเครื่องช่วยหายใจ หรือสวมเครื่องหายใจ และถุงมือกันสารเคมี ทั้งนี้ขึ้นกับสารเคมีแต่ละชนิด ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกซ้อม และมีความรู้จะสามารถทราบได้ว่าอุบัติเหตุนั้น ๆ เกิดจากสารชนิดใด โดยดูจากป้ายบอกรหัสและสัญญลักษณ์ในกรอบสี่เหลี่ยมด้านข้างของถึงรถบรรจุสารเคมี ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือทุกฝ่าย ทั้งนี้มีหลักการช่วยเหลือต้องเข้าไปในทิศทางเหนือลม เลี่ยงการสัมผัสไอระเหยของสารนั้น
สำหรับทางการแพทย์เมื่อทราบว่าเกิดจากสารเคมีตัวใด ก็จะค้นหาข้อมูลทั้งจากคู่มือ และจากโปรแกรมสารพิษ เช่น คามิโอ (CAMEO) ซึ่งเป็นโปรแกรมข้อมูลให้รายละเอียดของสารพิษอย่างคร่าว ๆ มีที่อยู่ของโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมว่าแต่ละแห่งมีสารเคมีประเภทใด และหมายเลขที่จะติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม, โปรแกรมอะโลฮ่า (ALOHA) สามารถกำหนดพื้นที่ปลอดภัย โดยเฉพาะโปรแกรมโทม (TOMES) และ ซีซีไอเอส (CCIS) ของโรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นโปรแกรมที่ให้รายละเอียดเพื่อประโยชน์ในการเข้าไปช่วยเหลือ การปฐมพยาบาล การรักษาพยาบาล ยาที่ใช้ในการรักษา เป็นต้น ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถประสานขอข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง
การซ้อมแผนรับอุบัติภัยจากสารเคมี ครั้งนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก คณะแพทย์ศาสตร์ของศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า บริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ในอำเภอบ้างฉาง สนับสนุนวิทยากร บุคลากร และอุปกรณ์ในการอบรมและซ้อมแผนฯ--จบ--