กรุงเทพ--6 ก.ค.--กรมทะเบียนการค้า
นายนรวัฒน์ สุวรรณ อธิบดีกรมทะเบียนการค้าเปิดเผยว่า ใน 5 เดือนแรกของปีนี้ ประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรวมทั้งสิ้น วันละ 658,692 บาร์เรล/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11 โดยเป็นการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 271,245 บาร์เรล ลดลงร้อยละ 17 น้ำมันเตา 143,210 บาร์เรล ลดลงร้อยละ 11 น้ำมันเบนซิน 127,227 บาร์เรล ลดลงร้อยละ 1 น้ำมันอากาศยาน 59,942 บาร์เรล ลดลงร้อยละ 5 ก๊าซแอลพีจี 54,198 บาร์เรล ลดลงร้อยละ 3 น้ำมันดีเซลหมุนช้า 2,008 บาร์เรล ลดลงร้อยละ 22 และ น้ำมันก๊าด 684 บาร์เรล ลดลงร้อยละ 47
สำหรับการผลิตจากโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซฯ ภายในประเทศ วันละ 706,956 บาร์เรล ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5 โดยเป็นการผลิตน้ำมันเตา 132,659 บาร์เรล ลดลงร้อยละ 17 น้ำมันเบนซิน 152,125 บาร์เรล ลดลงร้อยละ 4 ก๊าซแอลพีจี 69,055 บาร์เรล ลดลงร้อยละ 3 น้ำมันอากาศยาน 60,673 บาร์เรล ลดลงร้อยละ 10 และน้ำมันก๊าด 1,723 บาร์เรล ลดลงร้อยละ 29 และจากการที่ปริมาณการผลิตภายในประเทศลดลง ทำให้การส่งออกลดลงเช่นกัน โดยการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ วันละ 80,213 บาร์เรล ลดลงร้อยละ 7 น้ำมันที่มีการส่งออกมากได้แก่ น้ำมันเบนซิน 32,213 บาร์เรล น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 31,343 บาร์เรล ก๊าซแอลพีจี 13,106 บาร์เรล น้ำมันเตา 2,412 บาร์เรล และน้ำมันอากาศยาน 1,552 บาร์เรล
อย่างไรก็ตามยังคงมีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปมาทั้งสิ้น วันละ 20,987 บาร์เรล ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 69 เป็นมูลค่ารวม 2,037 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 70 ทั้งนี้เกือบร้อยละ 80 เป็นการนำเข้าจากสิงคโปร์ ส่วนที่เหลือเป็นการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา เกาหลี และอินโดนีเซีย โดยนำเข้าน้ำมันเตา 10,547 บาร์เรล น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 9,719 บาร์เรล น้ำมันเบนซิน 645 บาร์เรล และก๊าซแอลพีจี 77 บาร์เรล นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าน้ำมันดิบมาเพื่อเข้าขบวนการกลั่นอีก วันละ 676,778 บาร์เรล ลดลงร้อยละ 10 เป็นมูลค่าการนำเข้า 62,353 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2 โดยนำเข้าจากตะวันออกกลาง ร้อยละ 81 ตะวันออกไกล ร้อยละ 17 และแหล่งอื่น ๆ อีกร้อยละ 2 ประเทศที่มีการนำเข้ามากที่สุดได้แก่ โอมาน ร้อยละ 31 รองลงมาได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรทต์ ร้อยละ 20 เยเมน ร้อยละ 13 มาเลเซีย และซาอุดิอารเบีย ร้อยละ 11 เท่ากัน--จบ--