สมาคมอินเตอร์เนตนานาชาติ จัดฝึกอบรมมือปราบผู้บุกรุกอินเตอร์เนตในเมืองไทย

พฤหัส ๒๙ มกราคม ๑๙๙๘ ๑๙:๐๙
กรุงเทพ--29 ม.ค.--สมาคมอินเตอร์เนตนานาชาติ
ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน นายกสมาคมอินเตอร์เนตนานาชาติ ประเทศ แจ้งให้ผู้สื่อข่าวของเราทราบว่า สมาคมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จะจัดฝึกอบรมวิชาความปลอดภัยในอินเตอร์เนตให้แก่ผู้สนใจที่จะเป็นตำรวจหรือมือปราบผู้บุกรุกอินเตอร์เนต ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค)ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ศกนี้ โดยมีมือปราบระดับเจ้าแม่ผู้เชี่ยวชาญจากอเมริกามาเป็นผู้สอนเอง
ในปัจจุบันนี้ที่เมืองไทย มีมือดีชอบลองวิชาเจาะเข้าไปในเครือข่ายอินเตอร์เนตของหน่วยงานต่าง ๆ เป็นประจำ ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นและเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะต้องจัดเตรียมผู้เชี่ยวชาญทำงานเป็นมือปราบไว้กำหราบ ป้องกัน และปราบปรามคนชอบลองวิชาเหล่านั้น
ดร.ศรีศักดิ์ กล่าวว่า ที่อเมริกามีศูนย์ผู้เชี่ยวชาญงานฉุกเฉินต่อต้านการบุกรุกเครือข่ายอินเตอร์เนตอยู่ที่มหาวิทยาลัยคาเนกี เมลอน โดยศูนย์ดังกล่าวก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2531 เพื่อศึกษาหาประสบการณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้อินเตอร์เนต การจัดทำนโยบาย การจัดหาจัดสร้างวิธีการและเทคโนโลยีที่จะใช้ในการป้องกันและต่อสู้กับผู้บุกรุกเครือข่ายอินเตอร์เนต
หลายประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น ก็ได้จัดตั้งกลุ่มมือปราบต่อต้านการบุกรุกเครือข่ายอินเตอร์เนตขึ้นแล้ว
ในเมืองไทย สมาคมอินเตอร์เนตนานาชาติ ประเทศไทย ได้เคยประกาศว่า จะจัดตั้งกลุ่มมือปราบต่อต้านการบุกรุกอินเตอร์เนตขึ้น และได้วางแผนจะส่งผู้แทนไปศึกษาในอเมริกา แต่จากการที่ค่าเงินบาทได้พุ่งดิ่งจากประมาณ 26 บาทเป็น 55 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ การเดินทางไปสหรัฐก็เสียค่าใช้จ่ายมากไม่คุ้ม ฉะนั้น สมาคมอินเตอร์เนตนานาชาติ ประเทศไทย จึงร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เชิญผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกามาสอนวิชาเป็นมือปราบผู้บุกรุกอินเตอร์เนตในเมืองไทย
ผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกา ผู้นี้มีชื่อว่า บาบารา เฟรเซอร์ (Barbara Fraser) สมาชิกอาวุโสของฝ่ายเทคนิคสถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์หรือ เอสอีไอ (SEI = Software Engineering Institute) ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยคาเนกี เมลอน (Carnegie Mellon University) และปัจจุบันนี้กำลังทำงานอยู่ใน โครงการระบบซอฟต์แวร์ที่ไว้ใจได้ (Trustworthy System Program) ซึ่งเป็นโครงการของสถาบันดังกล่าวร่วมกับคณะผู้โต้ตอบกรณีฉุกเฉินการบุกรุกอินเตอร์เนต (CERT = Computer Emergency Response Team) บาบาราเป็นผู้นำในการพัฒนาระบบป้องกันความปลอดภัยและเทคนิคต่างๆ ในการป้องกัน และแผนการปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ให้ปลอดภัย
บาบาราทำงานร่วมกับศูนย์ประสานงานการโต้ตอบกรณีฉุกเฉินในการบุกรุกอินเตอร์เนต (CERT) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 และเป็นวิทยากรที่เป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลกในเรื่องของความปลอดภัยในอินเตอร์เนต เธอได้ทำงานร่วมกับหลายองค์กรเพื่อช่วยให้องค์กรเหล่านั้นได้เข้าใจและเรียนรู้เรื่องราวของความปลอดภัยในอินเตอร์เนตได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนั้น เธอยังเป็นผู้ร่วมเขียนข้อกำหนด 1281 (RFC 1281) ที่มีชื่อว่า "แนวทางในการดำเนินงานที่ปลอดภัยสำหรับอินเตอร์เนต" (Guideline for the Secure Operation of the Internet) และปัจจุบันเธอยังเป็นสมาชิกของคณะผู้อำนวยการความปลอดภัยด้านอินเตอร์เนตและเป็นประธานคณะทำงานสองคณะ
ดร.ศรีศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายหลักของการเปิดการอบรมนี้ก็เพื่อต้องการให้ผู้รับผิดชอบระบบอินเตอร์เนตได้ทราบว่า ควรที่จะทำอย่างไรเพื่อให้มีความแน่ใจว่าระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายมีความปลอดภัยในการดำเนินงานอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ขอเชิญผู้สนใจสำรองที่นั่งได้ที่สมาคมอินเตอร์เนตนานาชาติ ประเทศไทย 300-4543-62 ต่อ 1333, 1336 หากมีข้อสงสัยใดหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อที่ ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ที่โทรศัพท์ 01-621-4526 หรือส่งอีเมล์ไปที่ [email protected] จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ