กรุงเทพ--5 ก.ย.--กระทรวงมหาดไทย
ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเตรียมการและแก้ไขผลกระทบด้านการจราจรจากการก่อสร้างโครงการขนส่งขนาดใหญ่ พิจารณาแผนการจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานกรุงเทพ โดยให้บริษัทดำเนินงานก่อสร้างประสานงานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลในเรื่องแผนปฎิบัติงานวันต่อวัน และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนน หลีกเลี่ยงเส้นทางการจราจร ซึ่งจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดในบริเวณดังกล่าวได้
ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการเตรียมการและแก้ไขผลกระทบด้านการจราจรจากการก่อสร้างโครงการขนส่งขนาดใหญ่ ครั้งที่ 4/2540 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแผนการจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานกรุงเทพ ซึ่งกรมโยธาธิการได้ว่าจ้างบริษัท ED.ZUBLIN AG,WAYSS : FREYTAG AND STECON JOINT VENTURE เป็นบริษัทผู้รับเหมางานก่อสร้างโครงการสร้างสะพาน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 เป็นระยะเวลา 1,125 วัน และกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 30 ตุลาคม 2542
โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานกรุงเทพ เริ่มที่จุดห่างจากทางแยกเจริญกรุงประมาณ 300 เมตร ข้ามแยกเจริญกรุงไปถึงเชิงลาดซองสะพานกรุงเทพเดิม โดยสะพานใหม่จะอ้อมแนวสะพานเดิมไปทางทิศเหนือ และขนานกับแนวสะพานเดิม เข้าฝั่งธนบุรีบริเวณหลังศาลเจ้าพ่อเสือ จากนั้นวกเข้ากลางถนนมไหสวรรย์ลงสู่ถนนรัชดาภิเษกบริเวณสะพานข้ามคลองบางน้ำชัน โดยจะทำการก่อสร้างเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสูง 34 เมตร ซึ่งสูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก เป็นคอนกรีตอัดแรง กว้าง 6 ช่องจราจร มีความยาวพร้อมเชิงลาด 3,372 เมตร
แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการ แจ้งว่า ปัจจุบันได้มีการจราจรในเขตงานก่อสร้างจากบริเวณถนนพระราม 3 จนถึงสี่แยกถนนตก บริษัทผู้รับเหมาได้ทำการปรับปรุงพื้นที่ด้านข้างซึ่งมีเขตทางเหลือพอให้รถวิ่งได้ 2 ช่องทางจราจร/ทิศทาง คาดว่าบริษัทผู้รับเหมาจะคืนผิวการจราจรได้ประมาณสิ้นเดือนนี้ส่วนในบริเวณที่น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหาจราจรติดขัดมากที่สุด คือ บริเวณสะพานบางน้ำชัน ซึ่งจะต้องทำการปิดการจราจรเพื่อปรับปรุงสะพานข้ามคลองบางน้ำชัน ส่งผลกระทบให้จราจรจากแยกท่าพระไปแยกมไหสวรรย์ติดขัดต่อเนื่องเป็นวงแหวนบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นวงกว้างเนื่องมาจากต้องลดช่องจราจรจาก 4 ช่องจราจร เป็น 2 ช่องจราจร และการเดินรถที่มาจากแยกมไหสวรรย์ไปแยกท่าพระจะเหลือช่องทางจราจรเพียง 2 ช่องทางเท่านั้น
ดังนั้น บริษัทผู้รับเหมาจึงได้นำเสนอแผนการจัดการจราจรเพื่อบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดในช่องระหว่างการก่อสร้าง โดยในช่วงดำเนินก่อสร้าง จะลดช่องจราจรที่มาจากแยกมไหสวรรย์แยกบุคคโลเพื่อขึ้นสะพานกรุงเทพ จากเดิม 3 ช่องจราจร ลดลงเหลือ 2 ช่องจราจร และลดช่องจราจรที่ลงจากสะพานกรุงเทพ สู่ทางแยกบุคคโล และทางแยกมไหสวรรย์ จากเดิม 3 ช่องจราจร ลดลงเหลือ 2 ช่องจราจร
นอกจากนี้ที่ประชุมได้มอบให้บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างประสานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น) ในเรื่องของแผนกปฎิบัติงานวันต่อวันและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทราบ เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางการจราจร ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาจราจรติดขัดลดน้อยลง--จบ--