กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--สศช.
สืบเนื่องจากการแถลงข่าวของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.สาวิตต์ โพธิวิหค เรื่อง “การจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2542 ณ ห้องแถลงข่าวอาคารรัฐสภานั้น ได้มีความคลาดเคลื่อนในความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง ผู้จ้ดทำร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.สาวิตต์ โพธิวิหค จึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้แจงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องว่าร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ไม่ใช่ร่างที่จัดทำโดย สศช.
ร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำโดย “คณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.สาวิตต์ โพธิวิหค เป็นผู้แต่งตั้ง คณะกรรมการฯ มีองค์ประกอบซึ่งมาจากตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา จำนวน 20 คน อาทิ นักกฎหมายมหาชนจากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการัฐสภา ผู้ประสานงานกระบวนการยุติธรรม ตัวแทนจากบุคคลที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ตัวแทนสถาบันสันติศึกษา ตัวแทนผู้หญิงกับการเมือง ตัวแทนสภาทนายความ วุฒิสมาชิก และอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยมีผู้แทนจาก สศช. ร่วมเป็นเจ้าหน้าที่ในฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ เท่านั้น
เพราะฉะนั้น ร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงเป็นร่างของ “คณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาฯ” ไม่ใช่ร่างของรัฐบาลหรือร่างของ สศช. ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.สาวิตต์ โพธิวิหค ได้นำร่างพระราชยัญญัติฯ นี้เสนอคณะกรรมการประสานนโยบายและการดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซี่งมีคณะกรรมการประสานนโยบายฯ ได้เห็นชอบ และมีมติตามข้อเสนอของ ดร.สาวิตต์ โพธิวิหค เห็นควรนำร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ ออกเสนอประชาชนเพื่อให้แสดงความคิดเห็นตามเจตนารมณ์ของรัฐ ธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ในเรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชน”
การรับฟังความเห็นจากประชาชนได้กำหนดให้รับฟังจากทุ่กฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อมวลชนและ สศช. ด้วย สำหรับในส่วนของประชาชน สื่อมวลชน จะเป็นผู้มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการให้ประชาชนได้พิจารณาให้ความเห็น ช่วยประชาสัมพันธ์ และกระตุ้นประชาชนให้แสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติฯ
ความเห็นทั้งหมดของประชาชนจะได้รับการประมวลนำเข้าสู่การสัมมนาอย่างเป็นทางการซึ่งจะจัดให้มีขึ้นประมาณเดือนกันยายน ศกนี้ แล้วเข้าสู่ขั้นตอนการแก้ไขร่างพระราบัญญัติฯ ต่อไป
ข้อคิดเห็นของประชาชนส่งมาได้ที่ ตู้ ปณ. 59 ปณฝ. ราชเทวี กรุงเทพฯ 10401 หรือ โทรสาร. 216-5913 ภายในวันที่ 5 กันยายน 2542--จบ--