กรุงเทพ--17 พ.ย.--สจร.
นายต่อพงศ์ วัจนะสวัสดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าชานเมืองกรุงเทพมหานครจำนวน 3 แห่ง ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมการขนส่งทางบกว่า สถานีขนส่งสินค้าพุทธมณฑล (ด้านตะวันตก) ก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 60% สถานีขนส่งสินค้าร่มเกล้า (ด้านตะวันออก) ก่อสร้างแล้วเสร็จ ประมาณ 55% ทั้งสองแห่งนี้จะเปิดบริการได้ในกลางปี 2541 ส่วนสถานีขนส่งสินค้าคลองหลวง จ.ปทุมธานี (ด้านเหนือ) ก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 25% จะเปิดใช้งานได้ในปลายปี 2541 จากการศึกษาเมื่อ 3 ปีก่อน สรุปได้ว่า สถานีฯ ทั้ง 3 แห่งเมื่อเปิดใช้งานแล้วจะสามารถลดการเข้า-ออกของรถบรรทุกขนาดใหญ่ใน กทม. ได้ไม่ต่ำกว่า 2,500 เที่ยว/วัน จะลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้เป็นหมื่น ๆ ล้านบาทต่อปี
"อย่างไรก็ตาม ที่ตั้งของสถานีฯ ทั้ง 3 แห่ง ยังมีความจำเป็นต้องปรับปรุงทางเชื่อมต่างระดับเข้า-ออกสถานีฯ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและปัญหาการจราจรติดขัด แต่เนื่องจากงบประมาณของการนี้ได้ถูกตัดทอนไป จึงมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกประสานกับกรมทางหลวงปรับปรุงทางเข้า-ออกชั่วคราวก่อนการเปิดใช้งาน"
รองเลขาธิการ คจร. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า "เพื่อให้การส่งเสริมการใช้สถานีขนส่งสินค้าชานเมืองของรัฐทั้ง 3 แห่ง มีประสิทธิภาพและสามารถบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดใน กทม.ได้ ในหลักการจึงได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายและมาตรการไว้ คือ เขตวงแหวนชั้นใน ได้แก่ ถนนรัชดาภิเษก, ถนนพระราม 3 และถนนจรัลสนิทวงศ์ เป็นเขตห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่ตลอด 24 ชั่วโมง ระหว่างวงแหวนชั้นในกับวงแหวนชั้นนอกให้รถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าได้เฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น สำหรับในเขตวงแหวนรอบนอกส่วนบนอยู่เกินแนวเขตการแก้ปัญหาจราจรและส่วนล่างกว่าจะสร้างเสร็จต้องใช้เวลาอีกนาน จึงได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายว่าให้ทิศเหนือเริ่มจากแนวทางหลวงหมายเลข 346 ตัดกับวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกผ่านสะพานปทุมธานีไปบรรจบถนนพหลโยธินบริเวณตลาดรังสิตเชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 305 (ทางไปนครนายก แล้วมาบรรจบวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก, ส่วนด้านใต้ เริ่มจากถนนเทพารักษ์ ถนนปู่เจ้าสมิงพราย นครเขื่อนขันธ์ ถนนสุขสวัสดิ์จรดวงแหวนด้านตะวันตกถึงจังหวัดปทุมธานีตรงแนวเขตบางบัวทองบางส่วน"
อย่างไรก็ตาม เมื่อจะต้องดำเนินการจริงจะต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อหาข้อยุติที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติต่อทุกฝ่ายก่อน หากได้ข้อยุติแล้วจะมอบหมายให้กรมตำรวจรับไปดำเนินการเพื่อออกประกาศเจ้าพนักงานจราจรเพื่อนำมาปฏิบัติ และให้กรมการขนส่งทางบกประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและเตรียมความพร้อมต่อไป
อนึ่ง เกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเร่งด่วนของรัฐบาลในปัจจุบัน จะได้พิจารณาผ่อนผันกลุ่มสินค้าเพื่อการส่งออกให้สอดคล้องกับเที่ยวบินหรือเที่ยวการเดินเรือเป็นกรณีพิเศษด้วย จากการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแผนหลักการพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544) ตามที่ สจร. เสนอนั้น ได้รวมถึงโครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบนอกสุด (Truck Route) เป็นรูปตัวยูคว่ำ ด้านทิศตะวันตกมีระยะทางประมาณ 89 กม. จากทางหลวงหมายเลข 338 ผ่านนครชัยศรี ไทรน้อย บางไทร เสนา อยุธยา มาบรรจบทางหลวงหมายเลข 32 บางปะอิน นครสวรรค์ที่บ้านแขก ส่วนด้านตะวันออก ระยะทาง 103 กม. จากทางหลวงหลายเลข 32 ผ่านอุทัย หนองแค หนองเสือ ลำลูกกา หนองจอก ลาดกระบัง บางบ่อ มาบรรจบทางหลวงหมายเลข 34 บางนา-ตราด ที่ อ.บางบ่อ โครงการฯ นี้ จะใช้เงินกู้จากรัฐบาลญี่ปุ่น (OECF)ตามแผนหลักการพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งฯ (พ.ศ. 2540-2544) ส่วนหนึ่งมอบหมายให้กรมทางหลวงออกแบบรายละเอียดและก่อสร้างต่อไปเพื่อให้การจัดระบบการสัญจรของยานพาหนะเป็นไปอย่างคล่องตัว ปลอดภัย และได้มาตรฐานสากล--จบ--
- ม.ค. ๒๕๖๘ ภาพข่าว: ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมไทยอเมริกัน
- ม.ค. ๒๕๖๘ บรรยายผลการวิจัยเรื่อง “โครงการสร้างจิตวิญญาณประชาธิปไตยในเด็ก และเยาวชนไทย”
- ๐๐:๓๗ เคทีซีเผยสมาชิกวัยทำงานใช้บัตร แตะ จ่าย ที่รถไฟฟ้า MRT สูงขึ้น
- ๒๔ ม.ค. สจส. เร่งสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารหน้าตลาดมีนบุรี
- ๒๔ ม.ค. กทม. เดินหน้ามาตรการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) ส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะ ลดฝุ่น PM2.5