กรุงเทพ--31 มี.ค.--กฟผ.
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เรียกบริษัท Eastern Power & Electric มาเจรจาในส่วนที่ซื้อเพิ่มตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) ครั้งที่ 1 ระยะที่ 1 จำนวน 300 เมกะวัตต์ เพื่อทดแทนบริษัท Bangkok Energy System B ที่ถอนตัวไป
นายบุญชู ดิเรกสถาพร ผู้ช่วยผู้ว่าการพัฒนาธุรกิจ กฟผ.เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับบริษัท Eastern Power & Electric เมื่อวันที่ 27 มีนาคมนี้ ว่า กฟผ.ได้เรียกบริษัทดังกล่าวมาเจรจา ในส่วนที่ กฟผ.จะรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มในโครงการไอพีพี ครั้งที่ 1 ระยะที่ 1 จำนวน 300 เมกะวัตต์ ในปี 2543 ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อทดแทนกลุ่มผู้ลงทุนบริษัท Bangkok Energy System B เนื่องจากบริษัท Air Products and Chemicals, Inc. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ถอนตัวไม่สามารถรับราคาที่ กฟผ.เสนอได้
ผู้ช่วยผู้ว่าการพัฒนาธุรกิจ กฟผ.กล่าวต่อไปว่า กฟผ.เสนอราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุสัญญา (Levelized Price) ไม่เกิน 1.3278 บาท โดยให้บริษัท Eastern Power & Electric ไปพิจารณา และจะต้องแยกเสนอราคาเป็น ค่าพลังงานพร้อมจ่าย (Availability Payment), ค่าพลังงานไฟฟ้าที่จ่ายจริง (Energy Payment) และค่าสายส่งเชื่อมโยง (Connection Cost) ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ทั้งนี กฟผ.จะใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาตามโครงการไอพีพี ครั้งที่ 1 ระยะที่ 1 เป็นแนวทาง
สำหรับกลุ่มผู้ลงทุนบริษัท Eastern Power & Electric จำกัด นั้น ได้ผ่านการพิจารณาประเมินและคัดเลือกข้อเสนอ (Shortlist) ในลำดับที่ 8 ทางฝั่งตะวันออก ตั้งอยู่ที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ขนาดกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก และใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรอง โดยเชื่อมโยงเข้าระบบที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงคลองใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ ที่ระดับแรงดัน 230 กิโลโวลต์ กลุ่มผู้ลงทุนดังกล่าวประกอบด้วย บริษัท MDX Power จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 67 เปอร์เซนต์ และบริษัท Marubeni Corporation จำกัด ถือหุ้น 33 เปอร์เซนต์
ผู้ช่วยผู้ว่าการพัฒนาธุรกิจ กฟผ.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกับบริษัทดังกล่าวได้ กฟผ. จะเรียกบริษัท Tawan ABB Energy มาเจรจาเป็นรายต่อไป หากยังไม่ได้ข้อสรุป กฟผ.จะยกเลิกรับซื้อในส่วนเพิ่มนี้ โดยจะรับซื้อในการประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการไอพีพี ครั้งที่ 2 ในปี 2541 แทน
อนึ่ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคมนี้ คณะกรรมการ กฟผ.ได้มีมติอนุมัติแผนการลงทุนระยะยาวสำหรับงานก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าเพื่อเชื่อมโยงกับโรงไฟฟ้า ไอพีพี 2 แห่ง ดังนี้ งานก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ เชื่อมโยงระหว่างโรงไฟฟ้าของบริษัท ผลิตไฟฟ้าอิสระ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ IPT กับสถานีไฟฟ้าแรงสูงอ่าวไผ่ ระยะทาง 3.2 กิโลเมตร วงเงิน 265 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการปีงบประมาณ 2540-2542 และงานก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ เชื่อมโยงระหว่างโรงไฟฟ้าของบริษัท ไตรเอ็นเนอร์จี จำกัด กับ สถานีไฟฟ้าแรงสูงราชบุรี 2 ระยะทาง 7 กิโลเมตร วงเงิน 200 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการปีงบประมาณ 2540-2543--จบ--
- ๐๒:๒๕ โฮมโปร ร่วมกับ กฟผ. ชวนคนไทยใส่ใจรักษ์โลก มอบส่วนลดผลิตภัณฑ์เบอร์ 5 แทนความสุขรับปีใหม่ ในกิจกรรม "30 ปี ฉลากเบอร์ 5 ด้วยรัก (ษ์) และผูกพัน"
- ๒๔ ธ.ค. "ถิรไทย" ได้รับการรับรองฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 หม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย ระดับ 5 ดาว จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT)
- ๒๔ ธ.ค. ขอเชิญร่วมงาน "พรรณไม้งาม อร่ามสวนหลวง ร.๙ ประจำปี ๒๕๖๗" ๑ - ๑๐ ธ.ค. นี้