กรุงเทพ--19 ม.ค.--สำนักงานสารนิเทศและประชาสัมพันธ์กระทรวงสาธารณสุข
ประชาชนมีความพึงพอใจบริการของสถานีอนามัยในอำเภอมัญจาคีรี เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง มียอดผู้ป่วยทั้งหมดมารับบริการเฉลี่ยวันละ 204 ราย ช่วยลดค่าใช้จ่ายผู้ป่วยหัวละ 100 บาท ซึ่งสอดคล้องในยุควิกฤติเศรษฐกิจที่ทุกคนต้องรัดเข็มขัด
นายแพทย์ปรากรม วุฒิพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดสำนักงานสาธารณสุขอำเภอมัญจาคีรี อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่นว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการพัฒนาศักยภาพของสถานีอนามัยทั่วประเทศ 2,239 แห่งให้เป็นที่ยอมรับ และเป็นที่พึ่งเวลาเจ็บป่วยให้กับประชาชนในพื้นที่เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปรักษาพยาบาลยังโรงพยาบาลในเมือง หากเกินขีดความสามารถที่สถานีอนามัยรักษาได้จะส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลต่อไป สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรับยาต่อเนื่องก็ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปรับยาที่โรงพยาบาลสามารถรับยาที่สถานีอนามัยได้ ซึ่งจะเป็นยาชนิดเดียวกันกับโรงพยาบาลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ
ปลัดทระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอมัญจาคีรี ซึ่งมีสถานีอนามัยที่รับผิดชอบ 11 แห่ง ได้มีการพัฒนางานสาธารณสุขที่สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนผู้รับบริการ โดยเฉพาะบริการขั้นพื้นฐาน มีการตรวจรักษาโรค ตรวจหาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ขูดหินปูน-ถอนฟัน นอกจากนี้มีคอมพิวเตอร์ครบทุกแห่งใช้ในการประมวลผลข้อมูล ประวัติข้อมูลผู้ป่วย และมีกล้องจุลทรรศน์ สำหรับตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ในตับ สำหรับยาที่ใช้ในการรักษาเป็นชนิดเดียวกับโรงพยาบาลเช่นกัน และเปิดให้บริการตรลอด 24 ชั่วโมง จนทำให้ประชาชนศรัทธาและพอใจการบริการที่สถานีอนามัยมากขึ้นจากข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขในปีที่ผ่านมา มีผู้รับบริการที่สถานีอนามัยในเขตรับผิดชอบทั้ง 11 แห่ง จำนวน 74,799 คน คิดเฉลี่ยวันละ 204 คน ทำให้สถานีอนามัยแต่ละแห่งมีเงินบำรุงกว่า 1 แสนบาทที่สำคัญการรักษาที่สถานีอนามัยสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนที่ไปรักษาโรงพยาบาลในเมืองได้เฉลี่ยคนละประมาณ 100 บาทต่อครั้ง
นอกจากนี้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอและสถานีอนามัยทุกแห่งของอำเภอจาคีรี ได้ดำเนินงานที่สอดคล้องกับยุควิกฤติเศรษฐกิจตามแผนแม่บทการพัฒนาสุขภาพที่ดีด้วยต้นทุนต่ำ โดยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็น และประหยัดการใช้จ่ายทุกอย่าง เช่น ใช้ประโยชน์จากกระดาษอย่างคุ้มค่าทั้ง 2 หน้า ลดการใช้วัสดุสำนักงานที่ฟุ่มเฟือย ควบคุมการใช้น้ำ-ไฟ้-โทรศัพท์ในสำนักงานฯ เป็นต้น และยังได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาสถานีอนามัย เพื่อนำรายได้มาพัฒนาสถานีอนามัยด้านต่างๆ โดยไม่ใช้งบของทางราชการแต่อย่างใดอีกด้วย--จบ--
- ๒๓ พ.ย. กรมอนามัย ย้ำ ท้องถิ่นเร่งปรับปรุงระบบประปาหมู่บ้าน หลังพบการปนเปื้อนแบคทีเรีย
- ๒๓ พ.ย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาคุณภาพการตรวจน้ำตาลสะสมในเลือด มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพิ่มความแม่นยำในการรักษาเบาหวาน
- ๒๓ พ.ย. กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมอนามัย ผนึกกำลัง 7 องค์กร ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือการจัดประชุมสุขภาพช่องปากโลก วันที่ 26-29 พฤศจิกายน 2567