กรุงเทพ--14 ม.ค.--สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร
นายถิรชัย วุฒิธรรม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า กรุงเทพมหานครมีแผนที่จะรุกเข้าสถานศึกษาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้ โดยจะดำเนินการอย่างเต็มที่ในสถานศึกษาของกรุงเทพมหานครเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะขยายผลเข้าสู่โรงเรียนกรมสามัญและสถาบันอุดมศึกษาทั่วกทม. ต่อไป ภายใน 3 ปี
สืบเนื่องจากการประชุมร่วมกันระหว่างกทม. กระทรวงมหาดไทย กรมตำรวจ และป.ป.ส. เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมาได้มอบหมายให้กทม. เป็นหน่วยหลักในการป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่อย่างครบวงจร กทม. จึงเริ่มเดินเครื่องเพื่อทำงานนี้ให้เป็นผลทันที นับตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์ประสานต่อต้านยาเสพติดกทม. ขึ้น เพื่อกำกับและประสานการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งองค์กรประชาชนในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและแก้ปัญหาได้อย่างครบวงจร งานชิ้นแรกที่ศูนย์ประสานต่อต้านยาเสพติดกทม. จะร่วมกับกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดดำเนินการก็คือ การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา โดยให้โรงเรียนกทม. 429 แห่ง เป็นพื้นที่นำร่องเป้าหมายของโครงการมุ่งเน้นให้เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนขยายโอกาส นักศึกษาภาคค่ำของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนของกรุงเทพมหานคร ปลอดจากยาเสพติดโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะนักเรียนชูน ป.6 ที่กำลังจะจบการศึกษาจากโรงเรียนของกทม. ในปีนี้ และจะไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นจะต้องปลอดจากยาเสพติดทุกคน เพื่อมิให้เด็กนักเรียนของกทม.ไปเป็นปัญหาต่อสถานศึกษาอื่นๆ สำหรับเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดยาและได้รับการตรวจพบสารเสพติดในร่างกายจะได้รับการบำบัดด้วยวิธีชุมนุมบำบัดจากทางโรงเรียนอย่างถูกหลักวิชาการ และจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาติดตัวหรือสร้างปมด้อยให้แก่เด็กอีกด้วย
รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้จากการหารือร่วมกับพลตำรวจโท นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดในเช้าวาน ได้ข้อสรุปว่า ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันจัดการสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนของกทม.ทั้ง 429 แห่ง และหัวหน้าศูนย์เยาวชน รวมทั้งผู้บริหารโรงเรียนฝึกอาชีพของกทม.ในวันอังคารที่ 27 มกราคม 2541 ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง เพื่อให้ผู้นำหน่วยงานเหล่านี้เข้าใจถึงสถานการณ์ยาเสพติดในปัจจุบันจะได้ตามทันต่อปัญหารู้ถึงวิธีการตรวจหายาเสพติดในหมู่นักเรียนและวิธีการบำบัดแบบชุมชนบำบัดภายในโรงเรียน รวมทั้งแนวคิดในการจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงเรียน เช่น กิจกรรมเพื่อนบ้านต้านยา เพื่อนช่วยเพื่อน เป็นต้น นอกจากนั้นยังจะมีการระดมสมองร่วมกันระหว่างผู้บริหารโรงเรียนเพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางในการดำเนินการ ตลอดจนการวางแผนปฏิบัติในระยะยาวเพื่อให้การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในสถานศึกษาเป็นไปอย่างได้ผลจะได้เป็นต้นแบบในการนำไปให้สถานศึกษาระดับอื่นๆ ในพื้นที่กทม.ใช้เป็นกรอบสำหรับดำเนินการในสถานศึกษาของตนต่อไปด้วย
นายถิรชัยฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ตนมั่นใจว่าโครงการนี้จะทำให้โรงเรียนของกทม. ทั้ง 429 แห่ง ปลอดยาเสพติดอย่างเด็ดขาด และนักเรียนที่จบชั้น ป.6 จากโรงเรียนของกทม.ไม่ว่าจะเข้าไปเรียนต่อในสถาบันใด ขอให้สถาบันนั้นเชื่อมั่นได้ว่าเด็กเหล่านี้จะไม่ใช่เด็กที่มีปัญหายาเสพติดหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงแน่นอน อีกทั้งยังจะเป็นเด็กที่มีค่านิยมในการดำรงชีวิตที่ถูกต้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการคบเพื่อนอีกด้วย--จบ--
- ม.ค. ๒๕๖๘ นักศึกษาดนตรี มบส.เฝ้ารับเสด็จและร่วมบรรเลงเพลง"กรมสมเด็จพระเทพฯ"
- ม.ค. ๒๕๖๘ อว.เร่งผลักดันโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย Reinventing University ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พร้อมจัด 5 กลุ่มยุทธศาสตร์ตามความถนัด หวังยกระดับทัดเทียมสากล
- ม.ค. ๒๕๖๘ กระทรวง อว.ผนึกพันธมิตรระดับโลก ยกระดับการเรียนออนไลน์ ชูแอปพลิเคชัน “ไมโครซอฟท์ ทีมส์” ให้นักศึกษา 2 ล้านคนทั่วประเทศเรียนฟรี