กรุงเทพ--5 ก.พ.--สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา
ผอ.ไอเอฟดี ชี้กระแสความขัดแย้งในสังคมกำลังทวีความรุนแรงขึ้นจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจ และจะนิยมใช้วิธี "ก่อม็อบ" เพราะได้ผลเร็วสุด ชี้ต่อไปจะเกิดการเลียนแบบกลายเป็นแฟชั่นม็อบระบาดทั่ว เตือนรัฐเตรียมป้องกันอย่าเป็นวัวหายล้อมคอกเพราะม็อบปีนี้จะเกิดขึ้นมากจนล้อมคอกไม่ทันและอาจเกิดการจลาจลและนองเลือดได้ในที่สุด แนะตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาความขัดแย้งแห่งชาติ เพื่อเจรจาสงบศึก
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) กล่าวว่า แนวโน้มการใช้ความรุนแรงในสังคมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การก่อม็อบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอันเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ และความรู้สึกทนไม่ได้กับการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรม รู้สึกเสียเปรียบ ไม่ได้รับในสิ่งที่ตนเองควรได้รับ และการก่อม็อบก็เป็นวิธีสร้างแรงกดดันวิธีหนึ่งในการเรียกร้องสิทธิที่พึงมีพึงได้กลับคืน เราจะเห็นว่าตลอดช่วงปีนี้เริ่มมีม็อบเกิดขึ้น ตั้งแต่ม็อบท่อก๊าซที่จังหวัดกาญจนบุรีที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติได้ ม็อบคนพิการประท้วงกองสลาก ม็อบแรงงานไทย-ซัมมิทที่จบลงด้วยความรุนแรง แม้ว่าตอนนี้ชาวไร่อ้อยที่กำลังจะก่อม็อบสามารถเจรจายุติได้แล้ว แต่เราก็เห็นม็อบสมัชชาคนจนเริ่มทยอยเข้ามาอีกระลอก และแน่นอนว่าม็อบอื่น ๆ จะตามมาแน่เพราะจะเกิดการเลียนแบบหากก่อม็อบแล้วประสบความสำเร็จ ดังนั้นหากรัฐไม่เตรียมป้องกันและแก้ปัญหาอย่างทันท่วงทีก็อาจเป็นเหตุนำประเทศไปสู่การจลาจลได้
"รัฐบาลควรจัดตั้งองค์กรเฉพาะกิจที่เรียกว่า "คณะกรรมการแก้ปัญหาความขัดแย้งแห่งชาติ" ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นจากการรวมตัวของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนและประชาชน วัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับ และเร่งประสานงานเจรจาเพื่อยุติการชุมนุมประท้วงด้วยวิธีที่ทุกฝ่ายพออกพอใจมากเท่าที่จะเป็นไปได้ ในลักษณะของการเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยพิจารณารากปัญหาการขัดแย้งและแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และคณะกรรมการชุดนี้ต้องสร้างความรู้สึกว่า กลุ่มผู้ประท้วง รัฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาการ เป็นพวกเดียวกันคือเป็นคนไทยเหมือนกัน ซึ่งการสร้างความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันจะช่วยระงับความขัดแย้งที่อาจรุนแรงให้สงบลงได้"
ผอ.ไอเอฟดี กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องพยายามรักษาความสงบและไม่ใช้ความรุนแรง ในขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการเด็ดขาดในด้านการยึดถือกฎหมายเป็นหลัก เพื่อไม่ให้คนอื่นเดือดร้อน เช่น ใครปิดถนนก็ต้องถูกจับ และต้องระวังการดื่มสุราและของมึนเมาทุกชนิด ควบคุมการพกพาอาวุธ วัตถุไวไฟ ที่กลุ่มผู้ประท้วงหรือมือที่สามอาจนำไปใช้ในทางที่ก่อให้เกิดจลาจลได้
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ในความเป็นจริงประชาชนมีสิทธิที่จะชุมชนอย่างสงบ ดังนั้นการชุมนุมประท้วงจึงไม่เป็นการผิด แต่รัฐควรคิดหาวิธีการป้องกันก่อนการประท้วงจะเกิดขึ้นก็จะดีกว่าการตามแก้ปัญหา เพราะปีนี้ประชาชนจะได้รับวิกฤตด้านต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาวะขาดแคลนน้ำจากปรากฎการณ์แอลนิโน่ ปัญหาการว่างงานที่คาดว่าจะสูงถึง 2 ล้านคน และอาจสูงถึง 3 ล้านคนในปีหน้า ทำให้จะเกิดการก่อม็อบของคนงานเมื่อโรงงานต้องปิดตัวลง หรือปัญหาการก่อม็อบเนื่องจากการกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค การก่อม็อบอันเนื่องจากการที่รัฐต้องตัดสินใจขึ้นภาษีบางตัวที่กระทบประชาชนเพื่อให้งบประมาณเพียงพอ เป็นต้น
"นายกรัฐมนตรีและผู้นำประเทศทุกท่านต้องตระหนักตั้งแต่ตอนนี้ว่าวิกฤตจลาจลกำลังจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเมื่อคนรับแรงกดดันเรื่องปากท้อง ความหิว ความยากจนขัดสน การได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม หรือเมื่อคนมีความรู้สึกไม่มั่นคงในการดำรงชีวิต รัฐจำเป็นต้องวางแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและไม่อาจเพิกเฉยได้ การตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแห่งชาติ เป็นเพียงแนวทางหนึ่งในหลาย ๆ วิธีที่รัฐต้องนำออกมาใช้เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนตัดสินใจก่อม็อบ เพราะเมื่อเกิดการก่อม็อบแล้วนอกจากจะไม่ดีต่อเศรษฐกิจ สังคมและภาพพจน์ของประเทศแล้ว ยังจะมีแนวโน้มที่จะสงบลงอย่างสันติได้ยากกว่าการป้องกันมิให้ม็อบเกิดขึ้นตั้งแต่เบื้องต้น" ผอ.ไอเอฟดี กล่าวในตอนท้าย--จบ--
- ธ.ค. ๒๕๖๗ คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง เชิญร่วมเสวนา "นโยบายพรรคการเมืองกับความสัมพันธ์ประเทศมหาอำนาจ"
- ธ.ค. ๒๕๖๗ 'ศ.ดร.เกรียงศักดิ์' ประธานสถาบันการสร้างชาติ นำปาฐกถา 'อิทธิพลอเมริกาในประเทศไทย' ที่ ม.ร. 27 ก.ย.นี้
- ธ.ค. ๒๕๖๗ จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการสร้างชาติ ครั้งที่ 5 (The 5th International Conference on Nation-Building 2021)