กรุงเทพ--6 พ.ค.--ปรส.
นายอมเรศ ศิลาอ่อน ประธานกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดเตรียมการประมูลทรัพย์สินประเภทงานศิลปะของ 56 ไฟแนนซ์ว่า ภายหลังจากที่ ปรส.ได้มอบหมายให้มูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 เป็นผู้ขนย้าย จัดเก็บ และประเมินราคางานศิลปะ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแคตตาลอกเพื่อจำหน่ายแก่ผู้สนใจ และการจัดเตรียมงานนิทรรศการประกอบการประมูลภายใต้ชื่องาน "การประมูลงานศิลปกรรมของปรส." ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 10-14 มิถุนายน ศกนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายอมเรศกล่าวว่า ถึงแม้การประมูลงานศิลปะจะมีมูลค่าทรัพย์สินน้อยเมื่อเทียบกับทรัพย์สินอื่น ๆ แต่คุณค่าของผลงานแต่ละชิ้นเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ การประมูลงานศิลปะครั้งนี้จะเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน มีความถูกต้องตามหลักวิชาการ และมีหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งการดำเนินงานต้องใช้เวลาและความพิถีพิถันเป็นพิเศษ ทั้งนี้ นอกจาก ปรส.จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลการประมูลโดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ชลูด นิ่มเสมอ เป็นประธาน แล้ว ยังมีคณะอนุกรรมการอีก 7 ท่าน ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและความเชี่ยวชาญในงานศิลปะแต่ละด้าน และจากการประเมินคุณค่าของงานศิลปะทั้งหมด มีผลงานแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ผลงานที่มีคุณค่าทางศิลปะสูง จำนวนประมาณ 440 ชิ้น ซึ่งจะประมูลด้วยวิธียกมือเสนอราคา และผลงานที่มีคุณค่าทางศิลปะไม่สูง เช่น ผลงานเพื่อการตกแต่ง วัตถุมงคล วัตถุเพื่อการสะสม ประมาณ 600 ชิ้น ทำการประมูลด้วยการเสนอราคาทางเอกสาร
"ผลงานศิลปะที่มีคุณค่าสูงนั้น จะมีผลงานของศิลปินที่มีคุณค่าทางศิลปะสูงที่เป็น Master Pieces 80 ชิ้น โดยมีราคาเริ่มต้นประมูลสูงสุดคือ 250,000 บาท จำนวน 1 ชิ้น นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่ราคาประมูลเริ่มต้น 100,000 บาท และ 10,000 บาท โดยปรส. ได้รับความร่วมมือช่วยเหลือจากบริษัท คริสตี้ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นผู้ดำเนินการประมูล ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก" นายอมเรศกล่าว
ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจำหน่ายทรัพย์สิน ประเภทศิลปะวัตถุ วัตถุมงคล เหรียญ ธนบัตร และวัตถุมีค่าฯ กล่าวว่า ลักษณะทั่วไปของงานศิลปะของ 56 สถาบันการเงินนั้นส่วนใหญ่มีไว้เพื่อตกแต่ง และมีบางส่วนที่มีไว้สร้างภาพลักษณ์และมีเพียง 2-3 บริษัทเท่านั้นที่มีการสะสมงานศิลปะอย่างจริงจัง
ศาสตราจารย์ชลูดกล่าวว่า การได้มาซึ่งงานศิลปะของแต่ละบริษัทส่วนมากมาจากการที่บริษัทออกแบบเอง และอีกส่วนมาจากร้านค้าและแกเลอรี ส่วนที่มาจากการสรรหามาเอง หรือติดต่อศิลปินหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญยังมีน้อย
ทางด้านนายณรงค์ ปัทมะเสวี ผู้ช่วยเลขาธิการปรส. กล่าวถึงรายละเอียดในการจัดประมูลว่า ปรส.จะจัดนิทรรศการเพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน โดยจะจัดห้อง Ball Room สำหรับแสดงศิลปกรรมและศิลปวัตถุที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง และห้องโถง A2 จะใช้จัดแสดงรูปเคารพ ศิลปวัตถุ เครื่องตกแต่ง วัตถุมีค่า และอื่น ๆ ที่เหลือ
นายณรงค์กล่าวว่าการประมูลด้วยการยกมือจะจัดในวันที่ 13-14 มิถุนายน ระหว่างเวลา 9.30-13.30 น. และ 14.00-17.00 น. ของแต่ละวัน โดยแบ่งเป็น Session 1 ผลงานศิลปินอาวุโสที่มีคุณค่าทางศิลปะสูง 80 ชิ้น, Session 2 ผลงานของศิลปินร่วมสมัย 160 ชิ้น, Session 3 ผลงานแสดงศิลปะความเป็นไทย 100 ชิ้น และ Session 4 ของตกแต่งและสมสม 100 ชิ้น งานศิลปะทุกชิ้นจะมีรายละเอียดในแคตตาลอก ซึ่งจะจัดส่งถึงผู้ร่วมประมูลล่วงหน้า 3 สัปดาห์ ทั้งนี้การประมูลงานศิลปะที่มีคุณค่าและราคาสูงจะจำกัดผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 400 ท่าน และเนื่องจากข้อจำกัดดังกล่าวแขกรับเชิญ เพื่อเป็นสักขีพยานและสาธารณชนที่มีความสนใจในการประมูลจริง ๆ เท่านั้นจะได้รับเชิญเข้าห้องประมูล โดยทุกคณะไม่สามารถเข้าได้เกิน 2 ท่าน และแต่ละคณะจะต้องลงทะเบียนล่วงหน้าโดยกำหนดให้สาธารณชนลงทะเบียนเข้าประมูลใน Session 1, 2, 3 และ 4 ต้องวางเงิน 50,000 บาท, 30,000 บาท, 10,000 บาท และ 10,000 บาท ด้วยแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายในนามตนเอง ตั้งแต่วันที่ 26-29 พฤษภาคม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้ลงทะเบียนก่อนมีสิทธิก่อน ซึ่งเงินดังกล่าวปรส. จะคืนให้ภายใน 7 วันหลังจากเสร็จงานประมูล อย่างไรก็ตาม ปรส. จะจัดให้ผู้สนใจอื่น ๆ สามารถชมได้จากโทรทัศน์วงจรปิดในบริเวณห้อง Meeting 3-4
สำหรับงานศิลปะที่จะจัดประมูลด้วยเอกสาร จะจัดตั้งแต่วันที่ 11-14 มิถุนายน ณ บริเวณโถง A2 จะเปิดประมูลวันละ 4-6 รอบ ๆ ละ 2 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เวลา 12.00-18.00 น. ทั้งนี้เงื่อนไขและคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลปรส.จะแจ้งให้ทราบอีกครั้งในวันแถลงข่าวงานศิลปะพร้อมการเปิดให้ชมภาพศิลปะบางส่วนในวันที่ 26 พฤษภาคม ศกนี้ เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก่อนที่จะมีการแสดงนิทรรศการเพื่อเชิดชูคุณค่าทางศิลปะของงานทั้งหมดในวันที่ 10 มิถุนายน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.มนตรี เจนวิทย์การ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) หรือ คุณลัคคณา ขวัญงาม บริษัท นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด โทร. 263-2620 และ 263-3345-9 โทรสาร 263-2299--จบ--