ปรส. ชี้แจงข้อเท็จจริงจากการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร

ศุกร์ ๐๕ กุมภาพันธ์ ๑๙๙๙ ๑๐:๕๘
กรุงเทพ--5 ก.พ.--ปรส.
องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นที่อาจยังมีความไม่ชัดเจนจากการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2542 ประเด็นดังกล่าวประกอบด้วย การที่ ปรส. อนุญาตให้สถาบันการเงิน 13 แห่ง จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท หลักทรัพย์ เอกธำรง จำกัด (มหาชน) การเจรจาต่อรองเพื่อเพิ่มราคาประมูลสินเชื่อธุรกิจและทำสัญญาแบ่งปันผลกำไร (Profit Sharing) และการอนุญาติให้บริษัท เลแมน บราเดอร์ส ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เข้าร่วมประมูลสินทรัพย์ของ ปรส.
การอนุญาตให้สถาบันการเงินในความดูแลของ ปรส. จำนวน 13 แห่ง จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง จำกัด (มหาชน) (S-ONE) ในช่วงเดือนมีนาคม 2541 เป็นการดำเนินการภายใต้กรอบพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 8 (7) ซึ่งระบุให้ ปรส. มีอำนาจในการกระทำกิจกรรมทั้งปวงที่เกี่ยวเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ขององค์การ ซึ่งวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งคือการรักษามูลค่าสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับสูงสุด เพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้ โดยในกรณีหุ้น S-ONE ดังกล่าว หาก ปรส.
ไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง จะก่อให้เกิดผลเสียในแง่ที่ทำให้หุ้น S-ONE ที่สถาบันการเงินถือครองอยู่ซึ่งครบกำหนดการใช้สิทธิจองหุ้นเพิ่มทุนกลับมีมูลค่าลดลง คณะกรรมการ ปรส. จึงมีมติให้สถาบันการเงินที่ถือหุ้น S-ONE ต่ำกว่า 100,000 หุ้น ขายหุ้น S-ONE ทั้งหมดผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก่อนถึงกำหนดวันหมดสิทธิจองหุ้นเพิ่มทุน ส่วนสถาบันการเงินที่ถือหุ้น S-ONE เกิน 100,000 หุ้น ให้ขายหุ้นบางส่วนก่อนและนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นดังกล่าวมาใช้ในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้น และรักษามูลค่าการลงทุนในหลักทรัพย์ไว้เพื่อจำหน่ายในเวลาถัดมา
ในส่วนของการเจรจาต่อรองกับผู้ประมูลเพื่อเพิ่มราคาประมูลสินทรัพย์และการทำสัญญาแบ่งปันผลกำไร (Profit Sharing) ในการจำหน่ายสินเชื่อธุรกิจบางกลุ่มนั้น หาก ปรส. ไม่ดำเนินการและเก็บสินทรัพย์เหล่านั้นไว้เพื่อประมูลในครั้งต่อไป ก็จะมีผลให้สินทรัพย์นั้นเสื่อมค่าลงเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องจนทำให้ราคาประมูลที่จะได้รับในอนาคตอาจตกต่ำลงไปอีก ดังนั้น เมื่อ ปรส. จำหน่านสินทรัพย์ออกไป และผู้ชนะการประมูลนำสินทรัพย์ไปบริหารจะช่วยให้สินทรัพย์นั้นกลับมีคุณภาพดีขึ้นได้ เพิ่มโอกาสที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้คืนในจำนวนมากขึ้น และรวดเร็วขึ้น ผลกำไรที่เกิดขึ้นก็จะนำมาแบ่งปันตามโครงสร้างแบ่งปันผลกำไรในอนาคตตามที่กำหนดไว้
สำหรับกรณีที่มีการอนุญาตให้ บริษัท เลแมน บราเดอร์ส ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของ ปรส. เข้าร่วมประมูลสินทรัพย์ของ ปรส. ได้นั้น เนื่องจากปรส. มั่นใจว่าที่ปรึกษาทางการเงินดังกล่าวไม่มีโอกาสจะรับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการประมูลสินทรัพย์มากกว่าผู้ประมูลรายอื่นได้เลย ตามหลักเกณฑ์ซึ่ง ปรส. กำหนดขึ้น ผู้เข้าร่วมประมูลต้องขอรับแฟ้มข้อมูลการจำหน่ายในรูปของ ซีดีรอม และเข้าศึกษาข้อมูลในห้องเก็บข้อมูล โดยข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต่อการประเมินราคาสินทรัพย์ที่ประมูลล้วนอยู่ในห้องเก็บข้อมูลทั้งสิ้น เช่น รายละเอียดสัญญาเงินกู้ รายละเอียดเกี่ยวกับลูกหนี้ ข้อมูลการวิเคราะห์สินเชื่อและฐานะการเงินของลูกหนี้ ข้อมูลผู้ค้ำประกัน และข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันเงินกู้เป็นต้น ห้องเก็บข้อมูลนี้มีระบบควบคุมที่รัดกุมเข้มงวด อนุญาตให้เช้าได้เฉพาะพนักงาน ปรส. ที่ต้องปฏิบัติงานในห้องเก็บข้อมูลโดยตรง และผู้แทนของผู้เข้าร่วมประมูลที่มีหนังสือมอบหมายจากผู้เข้าร่วมประมูลอย่างชัดเจนว่าเป็นผู้ที่มีหน้าที่เข้าศึกษาข้อมูลในห้องเก็บข้อมูลโดยเฉพาะ ซึ่งต้องผ่านการตรวจเอกสารหลักฐานประจำตัวก่อนเข้าห้องเก็บข้อมูลทุกครั้ง ที่ปรึกษาทางการเงิน แม้จะได้รับทราบข้อมูลที่ปรากฎในซีดีรอม แต่จะไม่มีโอกาสได้เข้าศึกษาข้อมูลในห้องเก็บข้อมูลอย่างเด็ดขาด
ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับราคาอ้างอิง (Benchmark Price) ที่เป็นหัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งของ ปรส. ซึ่งมีการคำนวนเป็นการภายในนั้น ผู้ดำเนินการคำนวนเป็นพนักงานของ ปรส. ที่ได้รับมอบหมาย ขั้นตอนและหลักเกณฑ์ในการคำนวนจะถูกเก็บรักษาเป็นความลับแม้แต่คณะกรรมการ ปรส.เลขาธิการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา หรือพนักงาน ปรส. ในหน่วยงานอื่นๆก็ไม่สามารถล่วงรู้ข้อมูลดังกล่าวได้ คณะกรรมการ ปรส. จะได้ทราบข้อมูลราคาอ้างอิงเฉพาะในช่วงเวลาการพิจารณาประเมินผลการประมูลเท่านั้นนอกจากนั้น ปรส. ยังมีการใช้ระบบป้องกัน หลายขั้นตอนเพื่อป้องกันข้อมูลราคาอ้างอิงรั่วไหลหรือการจงใจทำลายข้อมูลด้วย
องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2540 ตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 เป็นองค์กรอิสระมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการกับบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 58 แห่งที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ ตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน และวันที่ 5 สิงหาคม 2540 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ฝากเงิน และเจ้าหนี้ที่สุจริต
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ดร. มนตรี เจนวิทย์การ (ปรส.) โทร. 263-3345-9 ต่อ 102 หรือ บริษัท เพรสโก้ แซนด์วิค (ประเทศไทย) จำกัดโทร. 273-8800 โทรสาร. 273-8800--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version