16 ม.ค.--กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
นายไตรรงค์ สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ในฐานะรองประธานอนุกรรมการแก้ไขแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีหลายหน่วยร่วมพิจารณา โดยมีนายพิชัย รัตตกุล รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นอนุกรรมการ อธิบดีกรมตำรวจมีอนุกรรมการและเลขานุการ อธิบดีกรมการจัดหางานเป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการแถลงว่า การประชุมนี้ก็เพื่อตระเตรียมแผนงานให้พร้อมในการผลักดันแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายออกจากระบบจ้างงาน ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายบรรเทาปัญหาการว่างงานแห่งชาติ ซึ่งนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานเรียกคณะกรรมการชุดนี้และอีก 6 ชุด เข้าประชุมแล้วหลังจากนั้นจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางรัฐบาลและพร้อมใช้ปฏิบัติได้อย่างจริงจังทันที
นายไตรรงค์ชี้แจงว่าคณะอนุกรรมการแก้ไขแรงงานต่างด้าวนี้เป็น 1 ใน 7 ชุดที่กระทรวงแรงงานฯ ได้นำเสนอผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2540 โดยเฉพาะด้านปัญหาแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะที่จดทะเบียนไว้นั้น มีความจำเป็นต้องผลักดันออกนอกประเทศอย่างไม่มีการผ่อนผันเมื่อครบกำหนดภายในเดือนมิถุนายน เมื่อถึงเวลาก็จะต้องขยับขยายส่งไปอยู่ในเขตชายแดนซึ่งมีอยู่ 4 แห่งคือ ที่จังหวัดเชียงราย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จังหวัดระนอง และจังหวัดกาญจนบุรี โดยเรียกว่าเป็น "พื้นที่พักเพื่อรอการส่งกลับ" เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ก่อนที่จะมีการเจรจากับประเทศของเขาเพื่อส่งกลับต่อไป
สำหรับแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายในประเทศไทยทั้งหมดกว่า 900,000 คน จะต้องหาผลักดันลดลงให้ได้ 300,000 คน กระจายอยู่ในสถานะประกอบการต่างๆ ราว 150,000 คน และนอกเหนือจากสถานประกอบการอีก 150,000 คน ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคม และด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยมีมติของสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ให้กระทรวงแรงงานฯ เป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือและให้คำปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดลำดับความจำเป็นที่จะต้องลดแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรม-สถานประกอบการต่างๆ ว่าแห่งใดมีความจำเป็นเร่งด่วน ทั้งนี้เนื่องจากในบางกิจการอาจจะยังหาแรงงานไทยเข้าทดแทนไม่ทัน แต่การดำเนินการลดแรงงานต่างด้าวและนำแรงงานไทยเข้าทดแทนทันทีนี้จะต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจได้
อย่างไรก็ตามการผลักคนแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายออกนอกประเทศจะต้องมีการประกาศเตือนล่วงหน้าเสียก่อน คาดว่าในระยะเวลาอีกราว 2 อาทิตย์หน้าจะต้องเริ่มประกาศหลังจากนั้นอีก 45 วัน ทางเจ้าหน้าที่จากกรมตำรวจ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและของกระทรวงแรงงานฯ จะเริ่มเข้าตรวจจับกุมตามสถานประกอบการที่มีแรงงานต่างชาติที่กระทรวงแรงงานฯ มีข้อมูลขึ้นบัญชีพร้อมแล้ว และหากยังไม่ดำเนินการัดส่งไปยังเขตพื้นที่พักเพื่อรอการส่งกลับก็จะถูกดำเนินการตามกฎหมายกำหนดโทษไว้ทันที--จบ--
- ๒๓ ม.ค. ก้าวที่ยิ่งใหญ่! OL? BL&GL THAILAND IN BRAZIL พาซีรีส์วายและนักแสดงเผยศักยภาพวงการบันเทิงไทยสู่สายตาโลก ปักหมุดโชว์ในบราซิลสมการรอคอยแฟนชาวลาติน!
- ๒๓ ม.ค. อธิการบดี สจล. รับมอบใบประกาศเกียรติคุณจากกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น
- ๒๓ ม.ค. ประเทศไทยไม่พร้อมรับมือดิสรับชั่นครั้งใหญ่: ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เตือนประเทศไทยไม่พร้อมรับมือ "ดิสรับชั่น" ครั้งใหญ่ ชี้ 6 ปัจจัยเปลี่ยนโลก