กรุงเทพ--22 ส.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
สธ.ชี้ ในขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำ สินค้าราคาแพง บางคนตกงาน และประชาชนส่วนใหญ่ลำบากขัดสนมากขึ้น หากเกิดการเจ็บป่วยขึ้นในครอบครัว ย่อมทำให้ภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จนทำให้บางคนหมดโอกาสในการรับบริการสาธารณสุข พระราชบัญญัติประกันสุขภาพ เป็นทางออกในการกระจายบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานให้แก่ประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
นายแพทย์ฉลอง ควรหา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ แถลงว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติประกันสุขภาพและมาตรฐานการให้บริการด้านสาธารณสุข เพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ด้วยหลักการที่ต้องการให้มีกฏหมายที่กำหนดให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันด้านสุขภาพ และมีสิทธิ์ได้รับการบริการที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึง เนื่องจากในปัจจุบันยังมีประชาชนไม่ต่ำกว่า 15 ล้านคน ที่ยังไม่มีหลักประกันทางด้านสุขภาพใด ๆ เลย เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้น ก็จะมีภาระค่าใช้จ่ายมากมาย ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ อาจทำให้บางคนไม่สามารถเข้ารับบริการสาธารณสุขได้ นอกจากกลุ่มข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่เบิกค่ารักษาได้ กลุ่มผู้ถือบัตรประกันสังคม และกลุ่มผู้ที่ประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิตหรือนิติบุคคลอื่น ส่วนกลุ่มคนยากจน หรือผู้มีฐานะปานกลาง อาจไม่ได้รับการดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่รักษาแพงและใช้เวลารักษานานย่อมจะกระทบต่อความเป็นอยู่ของครอบครัว และอาจส่งผลต่อการพัฒนาด้านอื่น ๆ ด้วย
นายแพทย์ฉลอง กล่าวต่อว่า แม้ว่างบประมาณของประเทศทางด้านค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่าปีละ 140,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก แต่ที่ผ่านมา เงินจำนวนนี้ถูกใช้อย่างกระจัดกระจาย และไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การมีพระราชบัญญัติประกันสุขภาพ จะทำให้เกิดการจัดระบบการเงินการคลังทางด้านค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศขึ้นมาใหม่ เสมือนหนึ่งการบังคับให้เกิดการ ออมทรัพย์ทางอ้อมเพื่อสุขภาพ เมื่อประชาชนเกิดการเจ็บป่วยขึ้น ก็สามารถได้รับบริการโดยไม่ต้องกังวลกับภาระค่าใช้จ่ายที่ตนเองต้องประสบ
ทางด้านนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสุขภาพ กล่าวว่า ที่ผ่านมานอกจากปัญหาด้านการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ไม่ทั่วถึงแล้ว ยังมีปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในด้านคุณภาพและมาตรฐานของการบริการอีกด้วย ผู้ที่มีฐานะดีมีกำลังซื้อบริการสุขภาพ เช่น ข้าราชการ และประกันสังคม หรือผู้ทำประกันชีวิต จะมีสิทธิ์และได้รับประโยชน์ และความช่วยเหลือยามเจ็บป่วยมากกว่าผู้ที่รัฐให้สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล ในพระราชบัญญัตินี้ จะมีหลักการให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพโดยการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขในสังคม ประชาชนที่มีฐานะดีก็จะเป็นผู้เฉลี่ยมาก ผู้ที่ฐานะปานกลางก็จะเฉลี่ยน้อยลงมา ส่วนประชาชนที่ยากจน รัฐก็จะเป็นผู้รับภาระในการเฉลี่ยค่าใช้จ่ายให้ เป็นการสร้างสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือกันและกัน และมุ่งเน้นให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานเช่นเดียวกัน
การร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้จากการเรียนรู้ประสบการณ์ความสำเร็จและความล้มเหลวจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อให้สามารถดำเนินการในระยะยาว และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง นายแพทย์สงวน กล่าวตอนท้าย--จบ--