กรุงเทพ--7 ม.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับตำรวจทางหลวง ปรับแผนในการขนส่งผู้ป่วยในต่างจังหวัด โดยคำนึงถึงความรวดเร็วและปลอดภัยของประชาชน เป็นหลัก กระจายรถวอลโว่เพื่อขนส่งผู้ป่วย 250 คันทั่วประเทศ เป็นผลงานจากยุคชวน 1 มีการดำเนินการมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังไม่มีปัญหา
นายแพทย์ ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความต้องการด้านบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับข้อมูลที่ผู้บริหารได้จากการตรวจเยี่ยมนั้น รถพยาบาลถูกร้องขอจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ ในขณะที่ทรัพยากรของประเทศมีอยู่อย่างจำกัด ในช่วงต้นปี 2537 ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ให้ความสำคัญกับชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะประชาชนในชนบทควรจะได้รับความเป็นธรรมในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประชาชนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า หากรัฐบาลจะลงทุนเพื่อให้ได้ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ จะก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติเกินคุ้ม จึงได้ดำริจัดทำโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศขึ้น โดยมุ่งเน้นในด้านการพัฒนาครุภัณฑ์การแพทย์และยานพาหนะขนส่ง ทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ จากนั้นได้มีการเจรจาหาแหล่งเงินกู้ จากประเทศอังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก ได้รับความสนใจจากประเทศสวีเดนและเดนมาร์ก
กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอโครงการเงินกู้ต่อคณะรัฐมนตรีในเดือนพฤษภาคม 2537 มีการพิจารณาปรับแก้เป็นระยะ จนกระทั่งในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2537 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการ กระทรวงสาธารณสุขได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารายละเอียดเพื่อเสนอ ครม. ต่อไป จากนั้นได้จัดทำโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสถานบริการสาธารณสุขในส่วนภูมิภาค เสนอครม. ในวงเงินกู้ต่างประเทศ 4,193,901,800 บาท ได้รับการอนุมัติโครงการเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2538
ในวันที่ 28 มิถุนายน 2539 กระทรวงการคลังได้ลงนามในสัญญาเงินกู้ ระหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคาร Skandinaviska Enskilda Banken ของสวีเดน ขอกู้เงินในวงเงิน 1,109,617,586 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ยเพื่อซื้อครุภัณฑ์การแพทย์ โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องซื้อครุภัณฑ์จากประเทศสวีเดน 70 % ของมูลค่าสินค้าทั้งหมด ให้ใช้คืนในระยะ 10 ปี มีระยะปลอดหนี้ 2.5 ปี โดยเริ่มใช้หนี้ในต้นปี 2542 สำหรับครุภัณฑ์การแพทย์ที่จัดซื้อครั้งนี้มีจำนวน 11,876 ชิ้น ซึ่งในจำนวนนี้เป็นรถวอลโว่รุ่น 940 ราคาประมาณคันละ 9 แสนบาท พร้อมอุปกรณ์พยาบาลเบื้องต้นให้โรงพยาบาลชุมชนเพื่อใช้สำหรับขนย้ายผู้ป่วย ร่วมกับเครือข่ายตำรวจทางหลวง ซึ่งมีรถพยาบาลขนย้ายผู้ป่วยเหมือนกัน จำนวน 250 คัน และรุ่น 960 ราคา 1.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นรถพยาบาลที่มีความคล่องตัวสูง อุปกรณ์การแพทย์ครบครัน มีชุดทำคลอด 1 ชุด เพื่อใช้ในรายทำคลอดฉุกเฉิน มีห้องพยาบาลกว้างขวางยืนได้ บุคลากรปฏิบัติงานได้สะดวกมาก มีระบบกันกระเทือนและความปลอดภัยสูงมาก จำนวน 98 คัน ให้โรงพยาบาลศูนย์ / โรงพยาบาลทั่วไป ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขใช้รถปิคอัพและรถตู้ในการส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งรถดังกล่าวจะไม่มีระบบกันกระเทือน และส่วนมากเป็นเกียร์ธรรมดา ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับความกระทบกระเทือนจากการเดินทาง โดยเฉพาะในถนนที่ขรุขระไม่เรียบ จากโครงการเงินกู้กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ปรับมาใช้รถวอลโว่ในการส่งต่อผู้ป่วย
อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่าที่ผ่านมามีปัญหาจากการใช้รถวอลโว่รุ่น 940 ในการส่งต่อผู้ป่วยคือ ความเคยชินของเจ้าหน้าที่ เราเคยชินกับรถปิคอัพและรถตู้ ซึ่งใช้เกียร์ธรรมดาและรถกว้าง แต่รถวอลโว่เป็นเกียร์อัตโนมัติ ทางกระทรวงสาธารณสุขจะกำชับจังหวัดให้ฝึกความเคยชินเจ้าหน้าที่ และให้ใช้รถตรงตามวัตถุประสงค์มากที่สุด
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวในตอนท้ายว่า งบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อรถวอลโว่รุ่น 940 คิดเป็นประมาณ 15 % รุ่น 960 คิดเป็นประมาณ 16 % ของวงเงินกู้จากประเทศสวีเดนจำนวน 1,109 ล้านบาทเศษ ซึ่งงบประมาณรถ 2 รุ่นนี้ เป็นจำนวนเงินประมาณ 300 ล้านบาท ไม่ใช่วงเงินเกือบ 2,000 ล้านบาท ตามที่มีข่าวแต่อย่างใด--จบ