กรุงเทพ--17 ก.พ.--กระทรวงสาธารณสุข
วานนี้ (16 ก.พ 41) เวลา 15.00 น. ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร รองอธิบดีกรมอนามัยและคณะ ร่วมแถลงข่าว เรื่อง "การบริโภคน้ำผักอย่างไรให้ปลอดภัย" ว่าในแง่มุมทางโภชนาการ คุณค่าอาหารที่ได้รับจากการบริโภคผักโดยตรงจะดีกว่าการดื่มน้ำผักไม่ว่าจะกินผักในรูปใดๆ ล้วนเป็นการส่งเสริมให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงและป้องกันโรคซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจนทางหลักวิชาการว่า จะรักษาโรคบางอย่างได้
ความนิยมการบริโภคน้ำผักในสังคมไทย ขณะนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและแพร่หลายซึ่งมีหลากหลายปัจจัย หากจะวิเคราะห์ถึงสาเหตุหลักแล้วน่าจะเกิดจากการปลุกกระแสกล่าวอ้างถึงสรรพคุณของน้ำผัก ในด้านการรักษาโรคและการลดความอ้วนรวมทั้งระบุว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ประกอบกับเป็นทางเลือกหรือเป็นการทดแทนการกินโดยตรงน้ำผักทำมาจากผักสดประเภทใย ผล หรือหัวก็ได้ อาจจะเป็นเพียงหนึ่งหรือหลายชนิดมาปั่นรวมกัน บางสูตรถึงกับกรองเอากากผักทิ้ง เติมน้ำตาลหรือน้ำผึ้งเพื่อปรุงแต่งรส แล้วนำไปแช่เย็นเติมน้ำแข็งหรืออาจดื่มทันที
จากกระบวนการทำน้ำผักดังกล่าวหากวิเคราะห์เชิงโภชนาการแล้วจะพบว่า การนำผักจำนวนมากมาปั่นรวมกัน หากไม่ใช้ความระมัดระวังในการล้างผักให้สะอาด และปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมีตกค้างแล้วโอกาสที่ผู้บริโภคจะได้รับเชื้อโรคและสารพิษจากผักย่อมมีความเสี่ยงที่สูงมากในขณะเดียวกันที่นำผักมาปั่นให้เป็นของเหลวนั้น โอกาสที่จะเกิดปฎิกิริยา ออกซิเดชั่น มีสูงซึ่งนำไปสู่การสูญเสียคุณค่าทางอาหารของสารอาหารบางตัวไป โดยเฉพาะวิตามินซี และวิตามินเอซึ่งถือว่าเป็นสาร แอนตี้ออกซิเดชั่นที่เชื่อกันว่าสามารถป้องกันโรคมะเร็งบางชนิดได้ และที่สำคัญคือ การกรองเอากากผักออกถือเป็นการลดโอกาสที่ร่างกายจะได้ใยและกากอาหารทีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้การขับถ่ายสะดวก ช่วยลดโคเลสเตอรอล รวมทั้งลดระดับน้ำตาลในเลือด และป้องกันมะเร็งบางชนิดได้ด้วย
ปัจจุบันได้มีการรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยกินผักและผลไม้มากขึ้น เพราะเป็นแหล่งของวิตามินและแร่ธาตุหลากหลายชนิดที่ร่างกายจำเป็นต้องนำไปใช้ต่อการดำรงชีวิตให้เป็นปกติสุขและที่สำคัญผักยังมีกากและใยอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย การกินผักไม่ว่าจะเป็นรูปใดๆก็ให้ประโยชน์ต่อร่างกายทั้งนั้น แต่ที่ทุกคนต้องคำนึงถึง คือเราจะต้องกินอาหารให้ครบ 5หมู่ในแต่ละมื้อ การกินผักหรือน้ำผักเพียงอย่างเดียว ติดต่อกันหลายๆ วันจะก่อให้เกิดโรคขาดสารอาหารได้ เพราะในผักมีโปรตีน คาร์โบไฮเดรทและไขมันต่ำ
ภญ.นฤมล โกมลเสวิน นักวิชาการอาหารและยา 9 ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ผลิตภัณฑ์น้ำผักจัดเป็นเครื่องดื่มตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เป็นอาหารควบคุมเฉพาะดังนั้นผู้ผลิตและผู้นำเข้าจะต้องขออนุญาตผลิตและขออนุญาตนำเข้าพร้อมทั้งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหารด้วยปัจจุบันอาหารประเภทเครื่องดื่มจากผลิตภัณฑ์ผัก ที่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับอาหารมีจำนวน 63 รายการ โดยแยกเป็นผลิต ำนวน 36 รายการ นำเข้า จำนวน 27 รายการโดยมีชนิดของเครื่องดื่มจากผลิตภัณฑ์ผัก เช่น น้ำใบบัวบก น้ำมะเขือเทศ น้ำมะนาว น้ำผักผลไม้รวม น้ำเห็ดหอม น้ำแครอท เป็นต้น
ภญ.สุภัทรา อิ่มเอิบ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านอาหาร ชี้แจงเพิ่มเติมว่าน้ำผักที่นิยมในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ น้ำผักบรรจุกระป๋องหรือขวดพลาสติกและน้ำผักปั่นตามสูตรอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งเตรียมเองในครอบครัว
น้ำผักบรรจุกระป๋องหรือขวดพลาสติก ซึ่งกองอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจวิเคราะห์ในช่วงเดือนมกราคม - ธันวาคม 2540 จำนวน 10 ตัวอย่าง โดยตรวจสี วัตถุกันเสียและสารตะกั่ว ปรากฎว่าผลการวิเคราะห์ผ่านทุกตัวอย่าง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 62(พ.ศ. 2524) เรื่องเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท สำหรับน้ำผักที่เตรียมเองในครอบครัว กองอาหารได้ตรวจ 2 ตัวอย่าง ด้วยชุดทดสอบ ชุดตรวจหายาฆ่าแมลงของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไม่พบสารตกค้างของยาฆ่าแมลงทั้ง 2 ตัวอย่าง--จบ--