กรุงเทพ--28 ก.พ.--ศูนย์ข่าว ส.ส.ร.
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลง (27 ก.พ. 2540) หลังที่ประชุมพิจารณาหลักการในกรอบ "สถาบันการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง" ว่าในส่วนของคณะรัฐมนตรีได้มีข้อ กำหนดให้ร่วมพิจารณาและบริหารงานได้ไม่เกิน 30 คน ประกอบด้วย
* นายกรัฐมนตรี
* รองนายกรัฐมนตรี
* รัฐมนตรีว่าการทุกกระทรวง
* รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
แต่จำนวนรัฐมนตรีที่กำหนดไว้สามารถมีได้สูงสุด 50 คน ฉะนั้นรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 6 คน จะมีส่วนเข้าร่วมประชุมพิจารณาเรื่อง ต่าง ๆ ได้ 1 คน เท่านั้น นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาที่มาของนายกรัฐมนตรี โดย กำหนดให้ส.ส. ทั้งหมดเลือกนายกรัฐมนตรีกันเอง ด้วยวิธีลงมติเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ภายใน 30 วันหลังการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก แต่หากไม่มีใครเสียงเกิน กึ่งหนึ่งให้ประธานรัฐสภานำผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเสนอขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่ถ้าไม่ สามารถนำเสนอรายชื่อได้ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรและเลือกตั้งใหม่ภายใน 15 วัน
ทั้งนี้ที่มาของนายกรัฐมนตรีนั้น คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ ให้อิสระกับส.ส.ในการลงมติ โดยสามารถเลือกมาจากส.ส.ที่ผ่านมาเลือกตั้งทั้ง แบบเขตเดียวเบอร์เดียวและแบบสัดส่วนหรือมาจากคนนอก ส่วนที่มาของรัฐมนตรีนั้น กรอบที่มีการพิจารณาวันนี้ ไม่จำกัด เฉพาะส.ส. แต่กำหนดเพียงคุณสมบัติกว้าง ๆ ว่าผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต้องอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี และหากใครได้รับการแต่ง ตั้งเป็นรัฐมนตรีจะต้องพ้นจากการเป็นส.ส. (หากเป็นส.ส.ก่อนได้รับตำแหน่ง) และทำการเลือกตั้งซ่อม ส่วนถ้าส.ส.มาจากระบบสัดส่วนให้เลือกคนในบัญชีรายชื่อ ถัดไปขึ้นมาแทน
ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ที่ประชุมกำหนดให้ส.ส.ต้องลงชื่อร่วม กัน 2 ใน 5 ของส.ส.ทั้งหมดเพื่อขอเปิดอภิปรายฯ และถ้าผู้ถูกอภิปรายเป็นนายก รัฐมนตรีจะต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมาด้วย ขณะเดียวกันระหว่างการ อภิปรายนายกรัฐมนตรีจะยุบสภาไม่ได้ ยกเว้นการลาออกให้กระทำได้
ด้านความสัมพันธ์ระหว่างส.ส.และสภานั้นการลงมติบางเรื่องให้กระทำ อย่างอิสระ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรคหรือวิป เช่นการยกมือหลังฟังการอภิปรายฯ เสร็จ ส่วนงบพัฒนาจังหวัดได้มีการกำหนดไม่ให้ส.ส.เกี่ยวข้อง แต่ให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นนำงบไปจัดสรรและพัฒนาเอง และจะมีการกำหนดโครงสร้างเงินเดือน และผลตอบแทนใหม่ เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่ง รวมทั้งจะมี การกำหนดสมัยประชุมฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อพิจารณากฎหมายที่คั่งค้างให้มากขึ้น
สำหรับผลการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านการ พิจารณาและวางกรอบแล้วยังไม่ถือเป็นข้อสรุป แต่จะถือเป็นเพียงหลักการเพื่อเสนอ ต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนต่อไป--จบ--