กรุงเทพ--13 มี.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
มหาวิทยาลัยขอนแก่นช่วยกระทรวงสาธารณสุขแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรอื่นๆ รวม 5สาขาเป็นเวลา 10 ปี และยังให้โอกาสเด็กในภาคอีสาน 18จังหวัดเข้าเรียนแพทย์ในโควต้าพิเศษอีกด้วยเกือบ 200 คนตลอดโครงการฯ
นายแพทย์ปรากรม วุฒิพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยภายหลังการลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า กระทรวงสาธารณสุขประสบปัญหาการขาดแคลนแพทย์ซึ่งปัจจุบันมีแพทย์ทั่วประเทศเพียง 14,948 คน ซึ่งตามความเป็นจริงควรจะมีแพทย์ 30,185คนจึงจะเพียงพอ อย่างไรก็ตามหากปล่อยไว้โดยไม่มีมาตรการใดๆรองรับยิ่งทำให้ประเทศขาดแคลนแพทย์อย่างวิกฤติและทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนที่เจ็บป่วยไม่มีแพทย์ดูแลรักษาดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงทำความตกลงกับทบวงมหาวิทยาลัยเพื่อขอความร่วมมือให้มหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทยศาสตร์ ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์โดยร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เป็นเวลา 10 ปีตั้งแต่ปี 2538-2547 เพื่อให้ได้แพทย์ มาทำงานในชนบทให้กับกระทรวงสาธารณสุขอีก 3,000 คนจึงจะเพียงพอ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ทยอยทำความตกลงกับแต่ละมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทยศาสตร์จำนวน 7 แห่ง ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็เป็นหนึ่งที่ร่วมในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทนอกจากร่วมผลิตแล้วยังช่วยพัฒนาบุคลากรสุขภาพในสาขาต่าง ๆ ด้วย
นายแพทย์ปรากรมกล่าวต่อว่าสำหรับความร่วมมือทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรอื่นๆ รวม 5 สาขาวิชาชีพ คือ แพทย์์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และสาธารณสุข มาตั้งแต่ปี2538 แม้จะไม่ได้ลงนามความตกลงร่วมมือก็ตามนับว่าทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างดียิ่งกับกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องนี้นอกจากนี้ยังให้โอกาสทางการศึกษาเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีภูมิลำเนาใน 18 จังหวัดภาคอีสานสามารถเข้าเรียนแพทย์ได้ในโควต้าพิเศษถึงปีละ 10 กว่ารายตลอดโครงการ 10ปีได้แพทย์เกือบ 200 คน
รศ.ปริญญา จินดาประเสริฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเปิดเผยถึงความคืบหน้าในโครงการความร่วมมือในการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพให้กับกระทรวงสาธารณสุขใน 5 สาขาว่า สาขาแพทยศาสตร์ได้ดำเนินการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบทตั้งแต่ปี 2538จนถึงปัจจุบันมีนักศึกษาแพทย์ในโครงการฯ 37 คน เมื่อสิ้นสุดโครงการคาดว่าจะผลิตแพทย์ให้กับกระทรวงสาธารณสุขได้ 197 คนโดยแพทย์ที่จบจะทำงานในภูมิลำเนาของตนเองหรือในเขตพื้นที่อีสานเป็นการกระจายแพทย์สู่ชนบทมากขึ้น, สาขาทันตแพทยศาสตร์ได้จัดทำโครงการศึกษาต่อเนื่องหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ของเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขแก้ปัญหาการขาดแคลนทันตแพทย์โรงพยาบาลชุมชน เป็นแนวทางการศึกษาต่อเนื่องสำหรับเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน เป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2540 - 2549 จำนวน 50 คน โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่จบจะต้องปฏิบัติงานเป็นอาจารย์ในภาควิชาทันตาภิบาลของวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร หรือปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนที่ขาดแคลนทันตแพทย์,โครงการศึกษาต่อเนื่องหลักสูตรเภสัชศาสตร์สำหรับเจ้าพนักงานเภสัชกรรมได้ร่วมมือผลิตตั้งแต่ปี 2538-2546 เป็นโครงการ 9 ปี ผลิตจำนวน 45 คนโดยจะจบเป็นเภสัชศาสตร์บัณฑิตรุ่นแรกในปีการศึกษา 2542 จำนวน 5 คนผู้ที่จบมีเงื่อนไขว่าจะต้องปฏิบัติงานเป็นอาจารย์สอนในภาควิชาเภสัชกรรมของวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร, สาขาพยาบาลศาสตร์ ให้วิทยาลัยในภาคอีสานจำนวน 5 แห่งคือวิทยาลัยบรมราชชนนีสรรพสิทธิประสงค์, นครราชสีมา,สุรินทร์,อุดรธานี,มหาสารคามเป็นสถาบันสมทบกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อสำเร็จจะได้รับพระราชทานปริญญาตรีสาขาพยาบาลศาสตร์ จากเดิมได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงพยาบาลศาสตร์ เทียบเท่าปริญญาตรีส่วนวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม และขอนแก่นอยู่ระหว่างดำเนินการขอเป็นสถาบันสมทบกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นส่วนการผลิตบัณฑิตสาธารณสุขศาสตร์ เป็นการพัฒนาพนักงานอนามัยซึ่งจบจากวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธรเป็นหลักสูตร 2ปีเข้าศึกษาในคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นต่อเนื่องเป็นบุคลากรสายวิทยาศาตร์สุขภาพสาขาสาธารณสุขศาสตร์ เมื่อจบไปปฏิบัติในพื้นที่อำเภอ ตำบลซึ่งทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นยินดีรับต่อเนื่องในปีการศึกษา 2542
สำหรับความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท สถาบันพระบรมราชชนกและมหาวิทยาลัยขอนแก่น (คณะแพทยศาสตร์ , คณะทันตแพทยศาสตร์ , คณะเภสัชศาสตร์ ,คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์) นั้นนับเป็นความร่วมมือที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนางานด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งยังเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาระดับชาติเป็นการพัฒนาบุคลากรสุขภาพให้มีความก้าวหน้ามีความรู้ความสามารถที่จะเข้าไปแก้ปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบได้ --จบ--
- ๖ พ.ย. บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด ผนึกกำลัง 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำ เสริมทักษะบุคลากรเภสัชกรรมไทยสู่ตลาดแรงงานในอนาคต
- ๖ พ.ย. ซีพี แอ็กซ์ตร้า ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพฯ ลงนาม MOU สานต่อโครงการ "เปลี่ยนขยะเป็นประโยชน์" สนับสนุนให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีน (BSF) ตั้งเป้าลดขยะอาหารเป็นศูนย์ ภายในปี 2573
- ๖ พ.ย. “MEDEZE” สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้กับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น