กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (24 ต.ค.44) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ได้มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 (ครั้งที่ 4) ประจำปี พ.ศ.2544 โดยนายชนินทร์ รุ่งแสง ส.ก.เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม (ฉบับที่…) พ.ศ… นำคณะกรรมการรายงานผลการพิจารณาเรื่องที่จะให้กทม.นำเงินสะสมจำนวน 4,000 ล้านบาทที่ปลอดจากภาระผูกพัน ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ก่อนรับหลักการ
นายชนินทร์ กล่าวว่า จากการพิจารณาของคณะกรรมการฯเห็นว่าการให้กทม.มีอำนาจนำเงินสะสมไปซื้อพันธบัตรได้นั้นเป็นเรื่องที่ควรดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารเงินสะสมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่กรุงเทพมหานคร ซึ่งผลตอบแทนที่จะได้รับในรูปดอกเบี้ยจากการซื้อพันธบัตรจะสูงกว่าการฝากธนาคารพาณิชย์ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ สำหรับส่วนราชการไม่เกินร้อยละ 0.5 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ สำหรับส่วนราชการไม่เกิน 0.25 บาท ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลออมทรัพย์อายุ 3 ปี จะให้ผลตอบแทนร้อยละ 4.75 ต่อปี พันธบัตรออมทรัพย์อายุ 5 ปี จะให้ผลตอบแทนร้อยละ 5.70 ต่อปี และเมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงจากการขาดทุนที่เกิดขึ้นอาจจะมีบ้างถ้าดอกเบี้ยท้องตลาดสูงกว่าดอกเบี้ยพันธบัตร แต่สภาพความเป็นจริงมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากหรือหากมีการเกิดขึ้นจริง ถ้ากทม.มีการบริหารจัดการที่ดี มีการติดตามข่าวสารและข้อมูลทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ก็สามารถดำเนินการแก้ไขความเสี่ยงดังกล่าวได้โดยการรีบดำเนินการไถ่ถอนพันธบัตรก่อนครบกำหนด เพื่อไม่ให้มูลค่าของพันธบัตรลดต่ำลงมาก และจากการตรวจสอบข้อมูลอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารแห่งประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2535 — 2544) อัตราดอกเบี้ยจะไม่ขึ้นลงแตกต่างกันมากนัก เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศใช้อยู่
ในการนี้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยนายธนา ชีรวินิจ ส.ก.เขตดินแดง กล่าวว่า ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไม่ค่อยจะปล่อยเงินกู้ให้กับภาคเอกชน ทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาติชะงักงัน จะเห็นได้ว่ายอดเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ มีตัวเลขสูงมาก แต่อัตราการปล่อยสินเชื่อแทบจะไม่มี เพราะธนาคารไม่ยอมที่จะเสี่ยงกับลูกหนี้บางราย กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานหนี่งที่มีศักยภาพในการที่จะช่วยรัฐบาลพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม กล่าวคือ หากกทม.นำเงินจำนวนหนึ่งที่ปลอดจากภาระผูกพันนำไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลก็จะทำให้รัฐบาลมีเงินที่จะสามารถนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจในการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชนได้ แทนที่จะนำเงินมาเก็บไว้ในธนาคาร ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรมากนัก ตนจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งที่กรุงเทพมหานครจะเดินหน้าก้าวไปอีกขั้นหนึ่งของการบริหารการจัดการที่มี ประสิทธิภาพ ซึ่งการนำเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลก็เป็นหน้าที่ของกทม.ที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า จะนำเงินไปซื้ออย่างไร ที่จะทำให้ไม่เกิดปัญหาตามมาในอนาคต
นายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา ส.ก.เขตบางรัก กล่าวด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่กทม.จะต้องมีการบริหารจัดการทางด้านการเงิน การคลัง อย่างมีระบบและเกิดประโยชน์สูงสุดในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ การซื้อพันธบัตรรัฐบาลจะเป็นประโยชน์กับกรุงเทพมหานครอย่างมาก ประการหนึ่งคือ ความแตกต่างในเรื่องดอกเบี้ยที่จะได้รับเมื่อนำไปเทียบกับธนาคารต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้กทม.มีรายได้เพิ่มมากขึ้น สามารถนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับร่างข้อบัญญัติดังกล่าวที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบและรับหลักการเพื่อนำไปพิจารณาในวาระ 2 , 3 ต่อไป โดยตั้ง คณะกรรมการฯขึ้นมาจำนวน 19 คน ประกอบด้วย ฝ่ายสภากทม. จำนวน 10 คน ฝ่ายบริหาร จำนวน 9 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน--จบ--
-นห-
- พ.ย. ๒๕๖๗ รมว.เฉลิมชัย เปิดโครงการรณรงค์ส่งเสริมและสนับสนุน ร้านข้าวแกง 20 บาทถูกใจชุมชน
- พ.ย. ๒๕๖๗ กระทรวงเกษตรฯ บูรณาการทุกภาคส่วน มุ่งสร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางรายได้ให้เกษตรกรด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล
- พ.ย. ๒๕๖๗ CPF Food Truck จับมือ ก.เกษตรฯ และ 6 พันธมิตร เดินหน้าอาหารมั่นคง มอบอาหารปลอดภัย...ครั้งที่ 21 สู่ชุมชนจรัญฯ ศาลเจ้าปุงเท่ากง เขตบางพลัด