กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--ททท.
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยความคืบหน้าในการดำเนินงานตามแผนงานเงินกู้เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้โครงการเงินกู้เพื่อการลงทุนทางสังคม (Social Investment Project: SIP) โดยการสนับสนุนทางการเงินจาก OECF- กองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ JBIC- ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นในปัจจุบัน
แผนงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูอนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรทางการท่องเที่ยว ซึ่งได้ จัดทำโครงการย่อย 4 โครงการ คือ
1. โครงการก่อสร้างและติดตั้งป้ายชี้ทาง ป้ายแนะนำ และป้ายห้ามเตือน บริเวณแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในเขตโบราณสถาน
2. โครงการติดตั้งอุปกรณ์ให้แสงสว่างโบราณสถานจังหวัดลพบุรี
3. โครงการบูรณะวิหารวัดสุวรรณดารามราชวรวิหาร 4. โครงการผลิตเอกสาร และโสตทัศนูปกรณ์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว ซึ่ง ททท. ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐเจ้าของพื้นที่ อาทิ กรมศิลปากร กรมป่าไม้ กรมประชาสงเคราะห์ ได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับในส่วนของการผลิตเอกสารและโสตทัศนูปกรณ์ นั้น แบ่งออกเป็น การผลิตภาพโปสเตอร์ชุดโปสเตอร์อุทยานแห่งชาติและอุทยานประวัติศาสตร์ ที่มีความโดดเด่นน่าสนใจรวม 16 แห่งๆละ 5,000 แผ่น รวมทั้งสิ้น 80,000 แผ่น ได้ดำเนินการเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจ ของประเทศไทยอย่างยิ่งที่โปสเตอร์จำนวน 3 ชุด ได้แก่ โปสเตอร์อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ (Himalayan Evergreen Hill Forest) อุทยานแห่งชาติผาแต้ม (A Puzzling Civilization in Thailand) และอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (Ayutthaya World Heritage in Thailand) ได้รับรางวัลโปสเตอร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวยอดเยี่ยมของภูมิภาคเอเชีย (Vettor Giusti Prize for Asia) จากงาน WTO Poster Contest เมื่อปี 2542 ที่ผ่านมา และ WTO ได้นำภาพโปสเตอร์ดังกล่าวลงพิมพ์ใน WTO Diary 2001 เพื่อเผยแพร่ทั่วโลกด้วย ทั้งนี้ ภาพโปสเตอร์ทั้ง 16 ชุด ได้จัดจำหน่าย ณ งานรายได้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ชั้น 11 อาคารเลอคองคอร์ด ในราคา แผ่นละ 35 บาท
นอกจากนี้ ททท. ยังได้ผลิตสื่อโฆษณาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บนพื้นที่สูง โดยประกอบด้วย วีดิทัศน์ เรื่องตำนานจากขุนเขา (A Tale from the Mountain) ภาพโปสเตอร์ ประชาสัมพันธ์ สื่อสิ่งพิมพ์เผยแพร่สถาบันวิจัยชาวเขา ศูนย์วัฒนธรรมชาวเขา และเอกสารแนะนำการ ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บนพื้นที่สูงพร้อมแผนที่ สื่อภาพนิ่งเอนกทัศน์พร้อมอุปกรณ์การฉาย ชุด ชีวิตบนดอยของชาวไทยภูเขา (The Hilltribe People of Thailand) ซึ่งทั้งหมดได้ดำเนินการผลิตแล้วเสร็จ พร้อมจะส่งมอบให้แก่กรมประชาสงเคราะห์เพื่อนำไปเผยแพร่ขยายผลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บนพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ทั้งด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวเขา คาดว่าการดำเนิน งานตามโครงการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และเป็นการสนับสนุนนโยบาย รัฐบาลในการส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย--จบ--
-อน-