กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--กระทรวงมหาดไทย
ปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์) ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านวิชาการจัดทำศูนย์ศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์การบริหารการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กำหนดจัดประชุมคณะที่ปรึกษาและคณะกรรมการด้านวิชาการ จัดทำศูนย์วิจัยประวัติศาสตร์การบริหารการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (พิพิธภัณฑ์มหาดไทย) ณ ห้องประชุม 1 กระทรวงมหาดไทย
นายประเสริฐ ธนเศรษฐกร ผู้อำนวยการกองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำ "โครงการศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์การบริหารการปกครอง กระทรวงมหาดไทย" ร่วมกับ "โครงการหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช" ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดการแสดงนิทรรศการถาวรในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งก่อสร้างอยู่บนพื้นที่ 75 ไร่ และมีพื้นที่อาคารรวม 20,000 ตารางเมตร โดยการจัดแสดงนิทรรศการมีเนื้อหาทางวิชาการ แบ่งออกเป็น 9 ส่วน คือ
1) ส่วนนำเรื่อง
2) ส่วนพระราชประวัติ
3) ส่วนพระราชกรณียกิจด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม
4) ส่วนพระราชกรณียกิจด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
5) ส่วนพระราชกรณียกิจด้านการเกษตร และพัฒนาชนบท
6) ส่วนพระราชกรณียกิจด้านสาธารณสุข
7) ส่วนพระราชกรณียกิจด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และการคมนาคม
8) ส่วนพระราชกรณียกิจด้านการสงเคราะห์
9) ส่วนทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจ อันก่อให้เกิดความมั่นคงแก่ชาติ และการปกครอง ซึ่งในส่วนที่ 9 นี้ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบในพื้นที่ 1,800 ตารางเมตร โดยเนื้อหาสาระเฉพาะในส่วน "ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจอันก่อให้เกิดความมั่นคงแห่งชาติและการปกครอง" ประกอบด้วยพระปฐมบรมราชโองการ ทรงเป็นจอมทัพไทย ทรงบำบัดทุกข์ ทรงบำรุงสุขปวงประชา และทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจไทยทั้งชาติ ในการนี้ จึงได้เชิญคณะที่ปรึกษา อาทิ หม่อมเจ้าทองคำเปลว ทองใหญ่ นายเอนก สิทธิประศาสน์ และนายทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา ร่วมกับคณะกรรมการดังกล่าว ประชุมปรึกษาหารือเพื่อกำหนดขอบเขตและเนื้อหาสาระเฉพาะในส่วนที่รับผิดชอบ นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความต่อเนื่อง และรวดเร็ว กระทรวงมหาดไทยจะได้แต่งตั้งคณะทำงานชุดหนึ่งขึ้นมาพิจารณาข้อมูลรายละเอียด ประสานงานกับหน่วยงานในสังกัด และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ตลอดจนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าของการดำเนินงาน เพื่อแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่าย
คาดว่าเมื่อดำเนินงานแล้วเสร็จ นิทรรศการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ทางวิชาการอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งรวบรวมความรู้เชิงประวัติศาสตร์ การบริหารการปกครอง ให้แก่บุคคลและประชาชนทั่วไป ได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป--จบ--