กรุงเทพมหานครเปิดอบรมสุขอนามัยเนื้อสัตว์แก่ผู้ประกอบการจำหน่ายเนื้อสัตว์

ศุกร์ ๐๙ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๑ ๑๐:๐๒
กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--กทม.
น.พ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการอบรมสุขอนามัยเนื้อสัตว์แก่ผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ รุ่นที่ 1 โดยมี น.พ.ปิยเมธิ ยอดเณร รองปลัดกรุงเทพมหานคร น.พ.กฤษณ์ หิรัญรัศ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย และพนักงานจำหน่ายเนื้อสัตว์จากท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง เข้ารับการอบรมรวมจำนวน 80 คน ทั้งนี้กทม.ได้แบ่งการอบรมออกเป็น 2 รุ่น ๆ ละ 80 คนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้กับพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายเนื้อสัตว์ในด้านสุขอนามัยเนื้อสัตว์ และสุขอนามัยสถานที่ ตลอดจนเสริมความรู้เรื่องการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียและปรับปรุงขั้นตอนการผลิตแก่ผู้ประกอบการจำหน่ายเนื้อสัตว์
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การอบรมในวันนี้ เป็นการอบรมในส่วนของผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ เพื่อให้รู้จักดูว่า เนื้อสัตว์ เนื้อปลาที่ดีและไม่ดี มีลักษณะอย่างไรบ้าง เช่น ประการแรก หากมีพยาธิ แบคทีเรีย และอื่นๆ ก็ให้กำจัดทิ้งไป ประการที่สอง การแนะนำให้ผู้ชำแหละเนื้อสัตว์ที่ออกจำหน่ายแก่ผู้บริโภค รวมทั้งการบรรจุเนื้อสัตว์ เครื่องในเข้าภาชนะ ควรให้ถูกสุขลักษณะ อย่างไรก็ดี ในพื้นที่กทม.นั้นมีประชากรที่มีทะเบียนบ้านและมีถิ่นที่อยู่ต่างจังหวัดอาศัยอยู่ประมาณ 10 ล้านคน แต่เป็นที่น่าแปลกก็คือไม่มีโรงฆ่าสัตว์ใหญ่เลย ดังนั้นกทม.จึงได้พยายามแนะนำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเนื้อสัตว์ให้กับผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งการปรับปรุงด้านต่างๆให้ถูกสุขอนามัย นอกจากนี้กทม.และสมาคมผู้ค้าสัตว์ฯกำลังจะพิจารณาว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีบริษัทเอกชนมาสร้างโรงงานฆ่าสัตว์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
เพื่อจะได้ควบคุมและแนะนำการฆ่าสัตว์อย่างถูกต้องแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด รวมถึงกทม.จะขอความร่วมมือจากเขียงขายเนื้อสัตว์ที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ตามตลาดต่างๆ ช่วยกันป้องกันและคุ้มครองผู้บริโภคด้วย
รองผู้ว่าราชการกทม. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของโรควัวบ้านั้น ขอให้ประชาชนอย่าได้ตกใจ เพราะจากรายงานในกรุงเทพมหานครยังตรวจไม่พบโรคดังกล่าว อย่างไรก็ดีกทม.เองได้มอบหมายให้สำนักอนามัย กทม.ติดตามโรคดังกล่าวอย่างใกล้ชิดรวมทั้งประสานงานกับกรมปศุสัตว์ ตลอดเวลา
สำหรับเชื้อโรคอะมีบา ที่พูดกันว่า ได้หายไปตั้งแต่ประมาณปี 2531 นั้น ยังมีประปรายที่พบในลำไส้ และตับ ซึ่งไม่ค่อยเป็นอันตราย แต่หากเชื้ออะมีบาขึ้นสมองเมื่อใดส่วนใหญ่จะเสียชีวิต จึงเป็นโรคที่น่าระวังโรคหนึ่ง สำหรับการป้องกันมิให้เกิดโรคนี้ก็คือ พยายามอย่านำน้ำที่อยู่นิ่งมาใช้ เช่น อาบน้ำ ว่ายน้ำ ดำน้ำแล้วสำลักน้ำเข้าสู่ร่างกายทางปากหรือจมูก ส่วนบริเวณใดที่เป็นแหล่งน้ำนิ่ง ก็ขอให้เด็ก ประชาชนระมัดระวังโรคดังกล่าวและอีกโรคหนึ่งคือโรคไข้เลือดออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจและนำน้ำในแหล่งน้ำนิ่งมาตรวจสอบดูโรคดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ประชาชนที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำดังกล่าวหากจะให้กทม.ออกตรวจก็ขอให้แจ้งไปยังสำนักอนามัย ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) เพื่อจัดเจ้าหน้าที่ออกดำเนินการต่อไป
นพ.ปิยเมธิ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากรายงานมีการตรวจพบเชื้ออะมีบาเข้าร่างกายแล้วขึ้นสู่สมองเพียง 160 ราย จากประชากรทั่วโลก กล่าวคือ เป็นโรคที่ไม่ค่อยพบ และไม่แพร่ระบาดคนต่อคน สำหรับสภาพของน้ำนิ่ง เช่น ท้องร่อง บึง หรือสระว่ายน้ำที่ขาดการดูแลรักษา หรือปล่อยทิ้งไว้ไม่ใส่น้ำยาคลอรีน ก็จะเป็นอันตรายได้ ส่วนสระว่ายน้ำหากมีการดูแลใส่น้ำยาคลอรีนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็ไม่มีโรคดังกล่าว--จบ--
-นศ-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ