กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--กทม.
หลังจากประชาชนต้องประสบปัญหาสภาพคอขวดที่สะพานหัวช้างมานับ 20 ปี ขณะนี้ทางกรุงเทพมหานครกำลังจะดำเนินการปรับปรุงสะพานหัวช้างใหม่แล้ว ตามโครงการก่อสร้างสะพานเฉลิมหล้า (หัวช้าง) โดยมีสำนักการโยธา กทม. เป็นผู้รับผิดชอบ เพิ่มช่องทางใหม่เป็น 8 ช่องจราจร ให้รถวิ่งได้คล่องตัวขึ้น
นายสนั่น โตทอง ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. เปิดเผยว่า ขณะนี้กทม.อยู่ระหว่างตรวจสอบสัญญาก่อสร้าง ซึ่งคาดกว่าจะสามารถเซ็นสัญญากับห้างหุ้นส่วนจำกัดวิวัฒน์ก่อสร้างได้ในเดือนธ.ค. 43 นี้ จากนั้นจะดำเนินการก่อสร้างทันที ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้างนาน 18 เดือน อย่างไรก็ตาม ได้มีแนวทางดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจราจรไว้แล้ว โดยการก่อสร้างจะคงช่องจราจรไว้เท่าเดิม 5 ช่องจราจร และจะทยอยทำที่ละด้านเพื่อให้รถยังสามารถใช้เส้นทางเดิมได้ตลอดเวลา ซึ่งในขั้นแรกจะรื้อถอนทางเท้าและราวสะพานด้านทิศตะวันตก(ตรงข้ามวังสระปทุม) ก่อน และก่อสร้างสะพานใหม่ด้านทิศตะวันตก 2 ช่องจราจร เมื่อเสร็จแล้วเปิดใช้ 2 ช่องทางใหม่จะทำให้มีช่องทางเพิ่มเป็น 7 ช่องทาง จากนั้นรื้อถอนสะพาน 2 ช่องจราจรและทางเท้า ด้านทิศตะวันออก จะเหลือช่องทางสำหรับรถวิ่งได้ 5 ช่องจราจร ก่อสร้างสะพานใหม่ด้านทิศตะวันออกอีก 3 ช่องจราจรเสร็จแล้วเปิดใช้ หลังจากนั้นจึงรื้อของเดิมซึ่งจะอยู่ตรงกลางทั้งหมดออก และสร้างเป็น 3 ช่องจราจร เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะทำให้สะพานหัวช้างมีช่องจราจรทั้งสิ้น 8 ช่องจราจร นอกจากนี้สะพานจะมีขนาดยาวขึ้นเป็น 140 เมตรจากของเดิม 30 เมตรเพื่อลดความลาดชันให้รถวิ่งได้สะดวก และมีทางกลับรถใต้สะพานฝั่งทิศเหนือ(ฝั่งโรงแรมเอเชีย) อีกด้วย
ด้านนายชาตินัย เนาวภูต ผู้อำนวยการกองออกแบบ สำนักการโยธา กล่าวเสริมว่ากทม.มีแนวคิดที่จะปรับปรุงสะพานเฉลิมหล้ามานานแล้ว เนื่องจากมีสภาพเป็นคอขวดขนาด 5 ช่องจราจร ทำให้รถที่วิ่งในถนนพญาไททั้งสองฝั่งซึ่งมี 10 ช่องจราจรต้องแออัดอยู่ตรงนี้ แต่ติดขัดเรื่องการรื้อถอนเนื่องจากเป็นสะพานเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ควรค่าแก่การอนุรักษ์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสภาพแวดล้อมองกทม.และบริเวณดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับสะพานมีสภาพทรุดโทรม ทางกรมศิลปากรจึงเห็นชอบให้กทม.เข้าไปดำเนินการปรับปรุง ทั้งนี้ จะยังคงอนุรักษ์ของเดิมไว้ ได้แก่ ตราสัญลักษณ์จปร. แท่นเสาหัวช้าง ราวลูกกรง และเสาโคมไฟ ซึ่งจะเคลื่อนย้ายและนำของเดิมกลับมาติดตั้งใหม่--จบ--
-นศ-