กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--กทม.
น.พ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้านโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคว่า ในส่วนของโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครที่ให้บริการตามนโยบายดังกล่าวซึ่งประกอบด้วย โรงพยาบาลสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ได้แก่ โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม, โรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ , โรงพยาบาลของเอกชน และโรงพยาบาลสังกัดกทม ได้มีการประชุมหารือและเห็นว่าเป็นนโยบายที่ดี รวมทั้งพร้อมที่จะสนองนโยบาย ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินการ แต่ปัญหาที่สำคัญคือการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในกทม.ค่อนข้างที่จะสลับซับซ้อนมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ อาทิ ประชากรในกทม.ตามทะเบียนราษฎรมีประมาณ 6 ล้านคน และมีประชากรแฝงอีกประมาณ 4 ล้านคน รวมทั้งประชากรประมาณ 40 % ของคนไข้ที่รับการรักษาในกทม.เป็นคนไข้ที่มาจากต่างจังหวัด ดังนั้นจะต้องมีการวางระบบการจัดสรรคนไข้ การขึ้นทะเบียน การให้บริการรักษาคนไข้ที่มาจากต่างจังหวัดซึ่งต้องมีการวางแผนอย่างดี เพื่อการรักษาพยาบาลจะได้กระจายคลอบคลุมและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ฯลฯ จึงอยากให้รัฐบาลเริ่มนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรคในต่างจังหวัดให้เรียบร้อยก่อน เพื่อกทม.จะได้นำผลจากการดำเนินการมาศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลที่อยู่ในจังหวัดใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา อุบลราชธานี ฯลฯ จะได้เป็นแนวทางการจัดสรรคนไข้เข้ารับการรักษาในแต่ละโรงพยาบาลอย่างเหมาะสม นอกจากนี้การรักษาคนไข้ในกทม.นั้นมีส่วนหนึ่งที่เรียกว่าตติยภูมิหรือระดับ 3 จะต้องใช้แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญอย่างมากและการรักษาต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งจะต้องมีการประชุมหารือเรื่องดังกล่าวอีกหลายครั้ง
น.พ.ประพันธ์ กล่าวอีกว่า เมื่อนโยบายดังกล่าวได้ดำเนินการทุกจังหวัดแล้ว หลังจากนั้นโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครขอใช้เวลาประมาณ 3 เดือนจึงจะดำเนินการได้ กล่าวคือ หากรัฐบาลเริ่มได้เดือนตุลาคม 2544 คาดว่ากทม.จะสามารถดำเนินการได้ประมาณเดือนมกราคม 2545 แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดหรือการดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรัดกุมยิ่งขึ้น เห็นควรจะเริ่มต้นดำเนินการประมาณเดือนเมษายน 2545 อย่างไรก็ดีขณะนี้ทางกทม.ก็ได้มีการศึกษาในเรื่องดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล--จบ--
-นห-