กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--กทม.
นางวิบูลวรรณ สุขสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า หน่วยงานของกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการให้เข้าสู่ระบบคุณภาพ ISO 9002 และมีหน่วยงาน กทม. ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 9002 แล้ว 14 หน่วยงาน สำหรับหน่วยงานที่เริ่มต้นดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว คณะผู้บริหารกทม.ได้มีนโยบายให้ดำเนินการพัฒนาระบบต่อไปจนได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9002 นอกจากนี้คณะผู้บริหารยังได้ให้ความสนใจในการพัฒนาการบริหารงานให้ได้มาตรฐาน “P.S.O. ” หรือ ระบบมาตรฐานสากลของประเทศไทยด้านการจัดการและสัมฤทธิ์ผลของงานภาครัฐ (Thailand International Public Sector Standard Management System and Outcomes)
ระบบ P.S.O. เป็นเทคนิคการพัฒนาการบริหารงานรูปแบบใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐพัฒนามาตรฐานทางผลลัพธ์ โดยมีเป้าหมายเป็นผลลัพธ์เชิงสัมฤทธิ์บั้นปลายในเรื่องความเสมอภาคและความเป็นธรรม ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิและเสรีภาพ ความทั่วถึงในการให้บริการ ความพึงพอใจของประชาชน ประสิทธิภาพของหน่วยราชการ ความประหยัด ความถูกต้อง การรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ ความผาสุกและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยได้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการพัฒนาการบริหารจัดการไว้ 10 ระบบหลัก ได้แก่ ระบบข้อมูล ระบบการสื่อสาร ระบบการตัดสินใจ ระบบการพัฒนาบุคลากร ระบบการตรวจสอบถ่วงดุล ระบบการมีส่วนร่วม ระบบการบริการภาคเอกชน - ประชาชน ระบบการประเมินผล ระบบการคาดคะเนและแก้ไขวิกฤต และระบบวัฒนธรรมและจรรยาวิชาชีพ
ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า ข้อดีของระบบ PSO ก็คือ การจัดทำไม่จำเป็นต้องดำเนินการครบทั้ง 10 ระบบหลัก จะดำเนินการกี่ระบบก็ได้ตามความพร้อมของหน่วยงาน และระบบหลักทั้ง 10 ระบบ จะมีดัชนีชี้วัดที่แต่ละหน่วยงานกำหนดเอง ตามภารกิจของหน่วยงาน ซึ่งต่างจากระบบคุณภาพ ISO 9002 ที่มีข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานสากลที่ชัดเจน และเคร่งครัด นอกจากนี้ระบบ P.S.O. ยังใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการและใช้เวลาในการจัดทำระบบตั้งแต่เริ่มจนถึงได้รับใบรับรองน้อยกว่าระบบ ISO 9002 ในการพัฒนาการบริหารงานให้ได้มาตรฐาน P.S.O. นั้น จะทำให้ระบบการบริหารจัดการของกรุงเทพมหานครพัฒนาเข้าสู่ระดับมาตรฐานสากลของประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล เกิดความชัดเจนโปร่งใสในการปฏิบัติงานสามารถพัฒนาระบบงานบริการประชาชนให้มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนได้มากขึ้น ตลอดจนเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกระดับ เนื่องจากเมื่อปรับเข้าสู่ระบบแล้ว จะส่งผลให้เกิดความถูกต้อง ความเสมอภาค ความเป็นธรรมและการปฏิบัติงานมีเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน ช่วยให้ข้าราชการได้มีการพัฒนาตนเองและพัฒนาองค์การไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ ก.พ. จะเป็นผู้กำหนดทิศทางในการจัดทำระบบ P.S.O. ก่อน จากนั้นกทม.จะดำเนินการตามแนวทางนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการองค์กรพัฒนาเข้าสู่มาตรฐาน P.S.O. และบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ในที่สุด--จบ--
-นศ-
- ๒๓ พ.ย. อัยการอบรมทักษะในการดำเนินคดีฟอกเงิน
- พ.ย. ๒๕๖๗ อัยการสูงสุดร่วมดินเนอร์ทอล์ก
- พ.ย. ๒๕๖๗ อบรมอัยการจังหวัด รุ่นที่ 44